กฎหมายมหาชน

Monday, August 07, 2006

มองโลกใบกลมอย่างอารมณ์ดี

มองโลกใบกลมอย่างอารมณ์ดี

"ผมไม่ใช่คนอารมณ์ดีอะไรหรอก เพียงแต่ผมเป็นคนที่คนรู้จักเยอะ มีสื่อนำเสนอบ้าง เมื่อเขานำเสนอจะเห็นผมในกิริยาไม่หลากหลายนัก คือ จะเห็นแค่ตอนผมยิ้มหัวเราะเลยดูเหมือนอารมณ์ดีอยู่ตลอดเวลาซึ่งจริงๆแล้วผมจะบอกว่า ผมเป็นคนอารมณ์ปกติมากกว่า เพียงแต่มุมมองในการมองอะไรหลายๆอย่าง ผมจะไม่พยายามมองแล้วทำให้ตัวเองเกิดทุกข์เท่านั้นเอง"
ศุ บุญเลี้ยง หรือ จุ้ย ชายหนุ่มผู้ได้รับสมญานามว่า ศิลปินอารมณ์ดี ที่หลายคนชมชอบ เปิดบทสนทนาอย่างรื่นรมย์
จุ้ย บอกว่า ทัศนคติที่ดี มีส่วนทำให้ความรู้สึกต่อสิ่งแวดล้อมที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เป็นไปในแง่บวกมากขึ้น แต่การเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดี ต้องอาศัย การสั่งสมจากสิ่งรอบข้าง และใช้ระยะเวลาพอสมควร
"คนที่ต้องเติบโตมาท่ามกลางเสียงก่นด่า ต้องกินข้าวเช้าในรถ กินไปฟังพ่อแม่บ่น และสบถกับ สภาพจราจร รอบข้างทุกวัน กับอีกคนที่โตมากับทะเล ได้วิ่งเล่นบนชายหาด เช้า เย็น ฟังพ่อเป่าขลุ่ยตอนกลางคืน ผมเชื่อว่าเด็ก 2 คน นี้ต้องมีทัศนคติในการมองโลกแตกต่างกัน แน่นอน"

เขายังเชื่อว่า คนที่มีทัศนคติไม่ดี หากแม้ได้อยู่ใกล้คนที่มีทัศนคติที่ดีหรืออยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง คนๆนั้น ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกไปในทางที่ดีได้ เพราะมนุษย์น่าจะมีรังสีแห่งการเชื่อมโยงอยู่ระหว่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า ของรังสีใครจะแผ่ออกมากลบของอีกคนได้มากกว่ากัน

ท่ามกลางสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกดดัน ผู้คนรอบข้างแก่งแย่งแข่งขัน ภาวะมลพิษ ความหวาดกลัว จากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โจรผู้ร้าย โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดความเครียด และเป็นทุกข์ แต่ จุ้ย มองต่างไปว่า ในเหตุการณ์ และสถานการณ์ ที่ว่ามานี้ หลายๆคน ก็อยู่ในสังคมนี้ อย่างมีความสุขได้
จุ้ย มองว่า เราไม่ควรเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นกังวล อยู่คนเดียว จนพาล ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์เพราะเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกคน บางทีเราก็ควบคุมได้ บางทีเราก็ควบคุมไม่ได้ ถ้าเราอยากอยู่อย่างมีความสุข หรือไม่มีทุกข์มากเราต้องคิดถึงปัจจัยที่เราควบคุมได้ก่อน
อย่างเช่น การออกกำลังกายให้แข็งแรงสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองอันนี้เป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้ ส่วนเรื่องฝนตก แดดจัดเกินไป อันนี้เราควบคุมไม่ได้เมื่อควบคุมได้กับควบคุมไม่ได้มาเจอกัน อย่างน้อยที่สุด มันก็จะเกิดสมดุลย์ คือ เราตากฝนแต่เราไม่เป็นหวัด อันนี้เป็นหลักการง่ายๆ
จุ้ย บอกด้วยว่า เรื่องการเข้าใจกติกามารยาทของสังคม รวมทั้งการวางเฉย ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้ เช่น การขับรถชนกันบนถนน ถ้าเราเข้าใจว่า รถเยอะ คนเยอะ โอกาสจะชนกันก็มี มิฉะนั้นจะมีบริษัทประกันภัยไปทำไมกัน
"เรื่องของการวางเฉยเหมือนคำพระท่านว่า มีเมตตา กรุณา มุทิตา แล้วต้องมีอุเบกขา เรื่องนี้สำคัญและต้องอาศัยการฝึกพอสมควร รู้ว่าดีใจ รู้ว่าเป็นทุกข์ เสียใจแต่ให้รู้จักระงับ อยาสุดโต่งเกินไปจนควบคุมตัวเองไม่ได้ คือต้องมีสตินั้นเอง เสียใจได้แต่อย่าเสียศูนย์"
ครั้งหนึ่งมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า พ่อแม่เอาเด็กมาทิ้งบนสะพานลอย จุ้ยบอกว่า หลายคนเป็นทุกข์กับข่าวนี้และพากันรุมด่า พ่อ แม่ของเด็กคนนั้นว่าใจร้าย บางคนก็มาเป็นทุกข์ว่า สังคมนี้เป็นอะไรไปเสียแล้วทำไมจึงมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น
"แต่ถ้ามามองอีกแง่หนึ่งว่า ดีนะที่เขามาทิ้งไว้บนสะพานลอยไม่เอาไปทิ้งในถังขยะ พ่อแม่เด็กอาจจะมีความจำเป็นบางอย่างและคิดว่า การเอาเด็กมาทิ้งไว้บนสะพานลอย จะต้องมีคนมาเห็นและเก็บไปเลี้ยงอย่างแน่นอน ขณะที่หากเอาไปทิ้งถังขยะ เด็กอาจจะถูกมดกัดตายก็ได้ คิดแบบนี้แล้วเราจะรู้สึกดีขึ้น ดีขึ้นใช่มั้ย"เขาถามพลางยิ้ม แล้วอย่างคนไม่มีงานทำ คนยากจนอดอยากไม่มีจะกิน จะมีความสุขได้อย่างไร
"มีคนบอกเหมือนกันว่า ไม่มีงานทำอดอยาก ไม่มีจะกินก็มีความสุขได้ ซึ่งผมไม่เชื่อเท่าไหร่ เพราะบางเรื่องมันไม่ใช่ว่าจะถูกต้องทั้งหมดเสมอไป ขึ้นอยู่กับจังหวะ การที่เราไม่มีเงิน แต่สุขใจได้ อาจเป็นเพราะเรารู้อยู่ว่า มีญาติพี่น้อง มีเพื่อนฝูง เดินไปหาใครเขาก็เรียกให้กินข้าว เป็นแบบนี้มากกว่า"
คนไร้โอกาสจะอยู่อย่างมีความสุขได้หรือเปล่า
จุ้ย เปิดยิ้มแล้วบอกว่า ต้องดูว่า ตอนที่คนๆนั้นยังมีโอกาสอยู่ เขาเคยให้โอกาสคนอื่นบ้างไหม หรือว่าเขาให้โอกาสตัวเองมากพอหรือยัง
"ผมยังไม่เคยเห็นคนมุมานะแล้วไม่ประสบความสำเร็จเลย เรื่องนี้ผมมองว่าหลายๆคนมักตัดโอกาสตัวเอง มากกว่า เช่น มีเวลาว่างอยู่ 2 ชั่วโมง ให้เลือกไปเรียนพิมพ์ดีด กับไปกินเหล้า จะเลือกอะไร บางคนบอกว่า ไม่มีเงินซื้อหนังสือมาอ่าน จึงเลือกที่จะเดินเล่นในห้าง
ขณะที่บางคนเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุด เพราะไม่มีเงินซื้อหนังสือ บางคนอยากทำหนังสือ อยากเป็นนักเขียน แต่ไม่อ่านหนังสือมาเลยเหล่านี้เป็นเรื่องของการพยายามให้โอกาสกับตัวเอง แล้วไปโทษสิ่งรอบตัวก็เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน"
เมื่อถามว่าระหว่างความพยายาม ที่จะผ่านสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไปสู่ความสำเร็จนั้นมักมีอุปสรรค และเป็นช่วงเวลาที่มีความทุกข์เข้ามารบกวนจิตใจเสมอ จุ้ยตอบไม่อ้อมค้อมว่า ใช่ แต่ไม่ใช่เสมอไปและขอเรียกความทุกข์ส่วนนี้ว่าเป็นบททดสอบ ซึ่งใครที่ผ่านบททดสอบแล้วความสุขย่อมถามหาเสมอ

0 Comments:

Post a Comment

<< Home