กฎหมายมหาชน

Sunday, August 06, 2006

ประเภทของระบบสารสนเทศ

ระบบสารสนเทศนั้นเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผลข้อมูล และผลิตสารสนเทศออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ ระบบสารสนเทศเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และผู้ใช้ที่แตกต่างกันด้วย
ระบบสารสนเทศแบบหนึ่งอาจใช้ในการบันทึกข้อมูลธุรกรรมที่ได้รับจากลูกค้า ส่วนระบบสารสนเทศอีกหนึ่งอาจใช้ในการทำสารสนเทศสำหรับช่วยสนับสนุนผู้บริหารในการตัดสินใจ
ระบบสารสนเทศจำแนกได้หลายแบบ แบบที่นิยมกันมากคือ แบ่งตามระดับการใช้งานในองค์การ คือ เป็นระบบที่ใช้ในการบริหารงานระดับล่าง หรือในระดับสูง และที่นิยมแบ่งอีกแบบหนึ่งคือ แบ่งตามลักษณะของหน่วยงาน
ประเภทระบบสารสนเทศแบ่งตามระดับการใช้งาน แบ่งได้ดังนี้
1. ระบบประมวลธุรกรรม(Transaction Processing System – TPS)
2. ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ(Management information System – MIS)
3. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ(Decision Support System – DSS)
4. ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร(Executive Information System – EIS)
5. ระบบผู้เชี่ยวชาญ(Expert System – ES)

ประเภทระบบสารสนเทศแบ่งตามลักษณะหน่วยงานหรือตามประเภทของงาน อาจแบ่งได้มาก เช่น
1. ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital Information System)
2. ระบบสารสนเทศโรงเรียน (School Information System)
3. ระบบสารสนเทศการตลาด (Marketing Informaiton System)
4. ระบบสารสนเทศการขาย (Sales Information System)
5. ระบบสารสนเทศบุคลากร (Personnel Information System)
6. ระบบสารสนเทศการเงิน (Financial Information System)
7. ระบบสารสนเทศบัญชี (Account Information System)
ต่อไปนี้ขออธิบายถึงระบบสารสนเทศที่จำแนกตามระดับผู้ใช้มาอธิบาย ดังนี้

ระบบประมวลผลธุรกรรม
ระบบสารสนเทศที่เกี่ยวกับการรับธุรกรรม(Transaction) ที่เกิดขึ้นมาบันทึกข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ จากนั้นประมวลผลกับธุรกรรมตามคำสั่งหรือโปรแกรมที่กำหนด ผลที่ได้จากการประมวลผลอาจเป็นเอกสารธุรกิจ หรือรายงานต่าง ๆ เช่น ในธุรกิจธนาคาร ระบบประมวลผลธุรกรรมก็จะเป็น ระบบฝาก ถอนเงินโดยทั่วไป นั่นคือ เมื่อมีผู้นำเงินมาฝาก ก็จะทำให้เกิดข้อมูลธุรกรรมการฝากขึ้น ระบบก็บันทึกข้อมูลการฝากลงในบัญชีลูกค้ารายนั้น

ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ เรียกได้อีกอย่างว่า ระบบ MIS เป็นระบบที่ประกอบไปด้วยโปรแกรมต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อขยายขอบเขตความสามารถของระบบประมวลผลธุรกรรม การขยายนี้กระทำโดยการจัดหาข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อมูลธุรกรรมมาบันทึกเก็บไว้ในฐานข้อมูลด้วย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คู่แข่ง เศรษฐกิจ กฎระเบียบ ความต้องการของตลาด ฯลฯ จากนั้นก็นำข้อมูลทั้งหมดมาจัดทำเป็นรายงานสารสนเทศแบบต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้บริหาร

ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ
ระบบประมวลผลธุรกรรมช่วยให้ทราบว่าหน่วยงานมีผลการดำเนินงานอย่างไรเป็นภาพกว้าง ๆ และระบบ MIS ทำให้ทราบว่า หน่วยงานมีปัญหาอะไรบ้าง? เมื่อทราบปัญหาแล้ว ผู้บริหารจะต้องใช้ความสามารถของผู้บริหารเองในการแก้ไขหรือดำเนินการอย่างไรกับปัญหานั้น ๆ
เมื่อผู้บริหารเกิดแนวคิดในการแก้ไขปัญหานั้น ผู้บริหารก็ย่อมจะต้องการทราบต่อไปว่า หากดำเนินการตามแนวคิดนั้นจะเกิดผลลัพธ์อย่างไร จะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่? ยิ่งหากผู้บริหารคิดหาแนวทางเลือกไว้หลายทาง ผู้บริหารยิ่งต้องการทราบว่า ทางเลือกใดที่ดีที่สุด
ในกรณีเช่นนี้ผู้บริหารก็จำเป็นต้องอาศัยระบบสารสนเทศที่เรียกว่า ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ แต่เป็นระบบที่ผู้บริหารใช้ประกอบการตัดสินใจเท่านั้น ไม่ใช้ระบบที่จะตัดสินใจได้ด้วยโปรแกรม ระบบนี้จะช่วยการพิจารณาดูว่า จะต้องทำอย่างไรถึงจะเหมาะ ช่วยให้ตัดสินใจมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะไม่ได้ตัดสินใจโดยการเดาสุ่ม แต่อาศัยสูตรหรือแนวคิดทางด้านวิชาการจัดการ (Management Science) เข้ามาช่วย
องค์ประกอบที่สำคัญของระบบสนับสนุนการตัดสินใจ คือ
1. ฐานข้อมูลสำหรับเก็บข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องการตัดสินใจ
2. แบบจำลอง (Model) หรือสูตรคณิตศาสตร์ที่ใช้สำหรับพยากรณ์ผลลัพธ์ของการตัดสินใจ
3. ระบบโต้ตอบเป็นภาษาธรรมชาติ หรือระบบที่ช่วยให้ใช้ง่าย เช่น เป็นระบบแบบโปรแกรม Windows

ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร
เป็นระบบสำหรับผู้บริหารระดับสูงมากในหน่วยงาน เรียกว่า ระบบ EIS ส่วนระบบ MIS จะเหมาะกับผู้บริหารระดับล่างและกลาง ซึ่งใช้ข้อมูลภายในหน่วยงานเป็นส่วนใหญ่
ระบบ EIS สำหรับผู้บริหารระดับสูงนั้นมีความต้องการสารสนเทศที่แตกต่างไปจากทุกระบบที่กล่าวมา คือ ต้องการสารสนเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คู่แข่ง และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกมากกว่า
ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร อาจจะมีข้อมูลให้ผู้บริหารใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น อาจเป็นกฤตภาคข่าว(Clipping) จากหนังสือพิมพ์ ซึ่งพนักงานตัดข่าวส่วนที่เกี่ยวกับหน่วยงานแล้วสะแกน(Scan)เก็บไว้ในระบบเครือข่าย หรืออาจจะเป็นข่าวย่อที่มีบริษัทหลายแห่งจัดทำเพื่อให้บริการก็ได้
ระบบ EIS ที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ความจริงควรจะสร้างให้ต่อเนื่องกับระบบประมวลผลธุรกรรม

ระบบผู้เชี่ยวชาญ
ระบบสารสนเทศที่ก้าวหน้าไปมากขึ้นอีก ก็คือ ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) หรือเรียกว่า ระบบ ES เป็นระบบที่ใช้เทคนิคขั้นสูงในการจัดทำฐานความรู้(Knowledge Base) ขึ้นใช้งาน
ระบบ ES เป็นระบบที่จัดทำขึ้นเพื่อเก็บความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานต่าง ๆ เอาไว้เป็นฐานความรู้ในการทำงาน หรือแม้แต่เป็นความรู้ให้กับคนรุ่นต่อไปได้ศึกษาและใช้ประโยชน์ และนำความรู้นั้นมาบันทึกเก็บไว้ในฐานความรู้ของระบบ
ระบบ ES มีจุดมุ่งหมายอยู่ 2 ประการ คือ
1. ทำหน้าที่ในการสอบถามความรู้ และเก็บบันทึกความรู้ของผู้เชี่ยวชาญไว้ในฐานความรู้ของระบบ
2. ทำให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญน้อย หรือขาดประสบการณ์ด้านนั้น ๆ สามารถทำงานได้เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการทำงานมานาน

ระบบสารสนเทศแบบอื่น
ระบบสารสนเทศแบบอื่น ๆ ยังมีอีกมากมาย เช่น ระบบสารสนเทศสำนักงาน (Office Information System) เป็นระบบที่ใช้สำหรับสร้างและจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของสำนักงาน โดยเฉพาะที่เป็นเอกสาร หรือรายงาน ซี่งระบบนี้มีความหมายคล้ายกับระบบสำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation หรือ OA) สำนักงาน OA เน้นการใช้อุปกรณ์อัตโนมัติเข้ามาช่วยในการทำงาน เช่น ใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมประมวลผลคำสำหรับพิมพ์เอกสาร
***********

0 Comments:

Post a Comment

<< Home