กฎหมายมหาชน

Monday, August 07, 2006

นายณัฐกฤต สุคนธ์

กฎหมาย และนานาสาระ

มองโลกใบกลมอย่างอารมณ์ดี

มองโลกใบกลมอย่างอารมณ์ดี

"ผมไม่ใช่คนอารมณ์ดีอะไรหรอก เพียงแต่ผมเป็นคนที่คนรู้จักเยอะ มีสื่อนำเสนอบ้าง เมื่อเขานำเสนอจะเห็นผมในกิริยาไม่หลากหลายนัก คือ จะเห็นแค่ตอนผมยิ้มหัวเราะเลยดูเหมือนอารมณ์ดีอยู่ตลอดเวลาซึ่งจริงๆแล้วผมจะบอกว่า ผมเป็นคนอารมณ์ปกติมากกว่า เพียงแต่มุมมองในการมองอะไรหลายๆอย่าง ผมจะไม่พยายามมองแล้วทำให้ตัวเองเกิดทุกข์เท่านั้นเอง"
ศุ บุญเลี้ยง หรือ จุ้ย ชายหนุ่มผู้ได้รับสมญานามว่า ศิลปินอารมณ์ดี ที่หลายคนชมชอบ เปิดบทสนทนาอย่างรื่นรมย์
จุ้ย บอกว่า ทัศนคติที่ดี มีส่วนทำให้ความรู้สึกต่อสิ่งแวดล้อมที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เป็นไปในแง่บวกมากขึ้น แต่การเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดี ต้องอาศัย การสั่งสมจากสิ่งรอบข้าง และใช้ระยะเวลาพอสมควร
"คนที่ต้องเติบโตมาท่ามกลางเสียงก่นด่า ต้องกินข้าวเช้าในรถ กินไปฟังพ่อแม่บ่น และสบถกับ สภาพจราจร รอบข้างทุกวัน กับอีกคนที่โตมากับทะเล ได้วิ่งเล่นบนชายหาด เช้า เย็น ฟังพ่อเป่าขลุ่ยตอนกลางคืน ผมเชื่อว่าเด็ก 2 คน นี้ต้องมีทัศนคติในการมองโลกแตกต่างกัน แน่นอน"

เขายังเชื่อว่า คนที่มีทัศนคติไม่ดี หากแม้ได้อยู่ใกล้คนที่มีทัศนคติที่ดีหรืออยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง คนๆนั้น ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกไปในทางที่ดีได้ เพราะมนุษย์น่าจะมีรังสีแห่งการเชื่อมโยงอยู่ระหว่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า ของรังสีใครจะแผ่ออกมากลบของอีกคนได้มากกว่ากัน

ท่ามกลางสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกดดัน ผู้คนรอบข้างแก่งแย่งแข่งขัน ภาวะมลพิษ ความหวาดกลัว จากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โจรผู้ร้าย โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดความเครียด และเป็นทุกข์ แต่ จุ้ย มองต่างไปว่า ในเหตุการณ์ และสถานการณ์ ที่ว่ามานี้ หลายๆคน ก็อยู่ในสังคมนี้ อย่างมีความสุขได้
จุ้ย มองว่า เราไม่ควรเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นกังวล อยู่คนเดียว จนพาล ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์เพราะเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกคน บางทีเราก็ควบคุมได้ บางทีเราก็ควบคุมไม่ได้ ถ้าเราอยากอยู่อย่างมีความสุข หรือไม่มีทุกข์มากเราต้องคิดถึงปัจจัยที่เราควบคุมได้ก่อน
อย่างเช่น การออกกำลังกายให้แข็งแรงสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองอันนี้เป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้ ส่วนเรื่องฝนตก แดดจัดเกินไป อันนี้เราควบคุมไม่ได้เมื่อควบคุมได้กับควบคุมไม่ได้มาเจอกัน อย่างน้อยที่สุด มันก็จะเกิดสมดุลย์ คือ เราตากฝนแต่เราไม่เป็นหวัด อันนี้เป็นหลักการง่ายๆ
จุ้ย บอกด้วยว่า เรื่องการเข้าใจกติกามารยาทของสังคม รวมทั้งการวางเฉย ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้ เช่น การขับรถชนกันบนถนน ถ้าเราเข้าใจว่า รถเยอะ คนเยอะ โอกาสจะชนกันก็มี มิฉะนั้นจะมีบริษัทประกันภัยไปทำไมกัน
"เรื่องของการวางเฉยเหมือนคำพระท่านว่า มีเมตตา กรุณา มุทิตา แล้วต้องมีอุเบกขา เรื่องนี้สำคัญและต้องอาศัยการฝึกพอสมควร รู้ว่าดีใจ รู้ว่าเป็นทุกข์ เสียใจแต่ให้รู้จักระงับ อยาสุดโต่งเกินไปจนควบคุมตัวเองไม่ได้ คือต้องมีสตินั้นเอง เสียใจได้แต่อย่าเสียศูนย์"
ครั้งหนึ่งมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า พ่อแม่เอาเด็กมาทิ้งบนสะพานลอย จุ้ยบอกว่า หลายคนเป็นทุกข์กับข่าวนี้และพากันรุมด่า พ่อ แม่ของเด็กคนนั้นว่าใจร้าย บางคนก็มาเป็นทุกข์ว่า สังคมนี้เป็นอะไรไปเสียแล้วทำไมจึงมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น
"แต่ถ้ามามองอีกแง่หนึ่งว่า ดีนะที่เขามาทิ้งไว้บนสะพานลอยไม่เอาไปทิ้งในถังขยะ พ่อแม่เด็กอาจจะมีความจำเป็นบางอย่างและคิดว่า การเอาเด็กมาทิ้งไว้บนสะพานลอย จะต้องมีคนมาเห็นและเก็บไปเลี้ยงอย่างแน่นอน ขณะที่หากเอาไปทิ้งถังขยะ เด็กอาจจะถูกมดกัดตายก็ได้ คิดแบบนี้แล้วเราจะรู้สึกดีขึ้น ดีขึ้นใช่มั้ย"เขาถามพลางยิ้ม แล้วอย่างคนไม่มีงานทำ คนยากจนอดอยากไม่มีจะกิน จะมีความสุขได้อย่างไร
"มีคนบอกเหมือนกันว่า ไม่มีงานทำอดอยาก ไม่มีจะกินก็มีความสุขได้ ซึ่งผมไม่เชื่อเท่าไหร่ เพราะบางเรื่องมันไม่ใช่ว่าจะถูกต้องทั้งหมดเสมอไป ขึ้นอยู่กับจังหวะ การที่เราไม่มีเงิน แต่สุขใจได้ อาจเป็นเพราะเรารู้อยู่ว่า มีญาติพี่น้อง มีเพื่อนฝูง เดินไปหาใครเขาก็เรียกให้กินข้าว เป็นแบบนี้มากกว่า"
คนไร้โอกาสจะอยู่อย่างมีความสุขได้หรือเปล่า
จุ้ย เปิดยิ้มแล้วบอกว่า ต้องดูว่า ตอนที่คนๆนั้นยังมีโอกาสอยู่ เขาเคยให้โอกาสคนอื่นบ้างไหม หรือว่าเขาให้โอกาสตัวเองมากพอหรือยัง
"ผมยังไม่เคยเห็นคนมุมานะแล้วไม่ประสบความสำเร็จเลย เรื่องนี้ผมมองว่าหลายๆคนมักตัดโอกาสตัวเอง มากกว่า เช่น มีเวลาว่างอยู่ 2 ชั่วโมง ให้เลือกไปเรียนพิมพ์ดีด กับไปกินเหล้า จะเลือกอะไร บางคนบอกว่า ไม่มีเงินซื้อหนังสือมาอ่าน จึงเลือกที่จะเดินเล่นในห้าง
ขณะที่บางคนเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุด เพราะไม่มีเงินซื้อหนังสือ บางคนอยากทำหนังสือ อยากเป็นนักเขียน แต่ไม่อ่านหนังสือมาเลยเหล่านี้เป็นเรื่องของการพยายามให้โอกาสกับตัวเอง แล้วไปโทษสิ่งรอบตัวก็เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน"
เมื่อถามว่าระหว่างความพยายาม ที่จะผ่านสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไปสู่ความสำเร็จนั้นมักมีอุปสรรค และเป็นช่วงเวลาที่มีความทุกข์เข้ามารบกวนจิตใจเสมอ จุ้ยตอบไม่อ้อมค้อมว่า ใช่ แต่ไม่ใช่เสมอไปและขอเรียกความทุกข์ส่วนนี้ว่าเป็นบททดสอบ ซึ่งใครที่ผ่านบททดสอบแล้วความสุขย่อมถามหาเสมอ

คิดแบบบวก

คิดแบบบวกๆ
คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์
ถึงพี่ประภาส วันนี้อาจารย์สอนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็พูดยกตัวอย่างให้ฟังหลายตัวอย่าง อาจารย์บอกว่าความคิดแปลกๆ ที่ก่อให้เกิดผลเสียหาย ไม่เรียกว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าความคิดไหนสร้างสรรค์ เพราะตอนเราคิดเราก็ไม่รู้นี่ว่ามันมีผลเสียหายหรือเปล่า
อยากจะถามพี่ประภาสว่าแล้วความคิดสร้างสรรค์กับความคิดเชิงบวกเป็นความคิดแบบเดียวกันหรือไม่ อาจารย์ยกตัวอย่างงานของพี่ประภาสด้วยว่าเป็นลักษณะของความคิดเชิงบวก หนามเตย เรียนพี่ประภาส ผมเคยอ่านเจอในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง เขาบอกว่าการมองโลกในแง่ดีไม่ใช่เรื่องถูก ที่ดีที่สุดต้องมองโลกในแง่จริง ในบทความนั้นยังพูดด้วยว่าการมองโลกในแง่บวกเกินไปทำให้ไม่เห็นความจริงของโลก
อยากถามพี่ประภาสว่า ถ้าการมองโลกในแง่บวก คือการมองโลกโดยละเลยความจริง เราก็ไม่ควรมองโลกแบบนั้นจริงมั้ย แฟนพันธุ์แท้พี่ประภาส พี่ประภาส เพื่อนฝากมาถามสั้นๆ ค่ะ คิดบวก คือการคิดเข้าข้างตัวเองใช่หรือไม่
ยุ้ย พระเอกของเรื่องวันนี้ชื่อ นายชาติ เขามีเพื่อนคนหนึ่งชื่อวัลลภ สองคนเข้าหุ้นเปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าร้านหนึ่งด้วยกัน ชื่อจริงๆ ว่าชาตินั้น ที่ถูกต้องเขียนว่า ชาด เพราะชื่อในบัตรประชาชนเขียนว่า กาชาด แม่ตั้งชื่อเขาแปลกๆ อย่างนี้เพราะแม่มีใจชอบในเครื่องหมายกาชาดที่เป็นเครื่องหมายบวกเป็นพิเศษ และอยากให้ชีวิตของลูกเป็นบวกตามความหมายของสัญลักษณ์นี้ ส่วนหุ้นส่วนของเขา ใครๆ ก็เรียกสั้นๆ ว่า ลบ แทนชื่อจริง ดังนั้นร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าร้านนี้จึงตั้งชื่อว่า บวกลบพานิชย์ ตามชื่อของเจ้าของสองคน อีกทั้งยังมีความหมายไปถึงขั้วบวกขั้วลบของไฟฟ้า ซึ่งก็ตรงความหมายกับของที่ขายอยู่

กิจการดำเนินไปด้วยดี จนวันหนึ่ง พัดลมเครื่องหนึ่งที่วางขายอยู่ในร้านเกิดหายไป โดยบันทึกสมุดในบัญชีก็ไม่แจ้งไว้ เจ้าลบไม่รอช้าเดินมาถามตรงๆ กับหุ้นส่วนของเขาทันทีว่า ลูกจ้างของเราที่มีอยู่คนเดียวนั้นขโมยไปหรือเปล่า แต่แล้วเขาก็ยั้งปากไว้ ไม่ปรักปรำลูกน้องต่อ พลันก็พูดว่าหรือว่าเราขายไปแล้วแต่ลืมจดรายการลงในสมุดขาย แต่ใครเล่าที่เป็นคนขายแล้วลืมจด

ชาดเลยบอกหุ้นส่วนของเขาว่า เมื่อวานเห็นคนมาเข้าร้านเยอะแยะ ของอาจจะหายตอนไหนก็ได้ เราไปเปิดวิดีโอวงจรปิดที่ตั้งกล้องถ่ายไว้ในร้านดูกันไหม ในวิดีโอเทปที่ถ่ายภาพไว้ เห็นได้ชัดเลยครับว่าเจ้าลูกจ้างคนเดียวของร้าน กำลังถือพัดลมอยู่ปะปนในกลุ่มลูกค้า แต่เนื่องจากผู้คนที่เดินไปมาเต็มร้าน จึงมองเห็นไม่ชัดนักว่าเขาถือพัดลมเดินไปไหน หรือถือยืนอยู่เฉยๆ "หรือว่ามันยกไปส่งลูกค้า" ชาดดึงมือเจ้าวัลลภไว้ก่อนที่มันจะวิ่งขึ้นบันไดไปเล่นงานลูกน้องที่นอนพักอยู่ชั้นบน "มันเพิ่งมานอนค้างร้านเป็นวันแรกนี่ กินบนเรือนขึ้รดบนหลังคาอย่างนี้ เลี้ยงไว้ไม่ได้" นายลบพยายามสะบัดมือชาด "คนเราถ้ามันจะขโมยแล้วละก็ มันไม่มานอนให้เราจับอย่างนี้หรอก" ชาดจับมือเพื่อนไว้แน่น เพราะกลัวจะสะบัดมือหลุด “บางทีเขาอาจจะกำลังยกพัดลมขึ้นมาทำความสะอาด หรือไม่ก็ยกขึ้นจัดข้าวของในร้านให้เป็นระเบียบก็ได้" ..............................................พักเหตุการณ์ไว้แค่นี้ก่อนนะครับ แล้วมาดูว่ามันมีความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นตรงไหนบ้างในนิทานเรื่องนี้
การตั้งชื่อร้านเป็นอย่างไรครับ เท่หยอกอยู่เมื่อไร เรียกได้ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่งนะครับได้ทั้งความหมายของกิจการได้ทั้งความหมายของเจ้าของ ถ้าจะถามว่าความคิดสร้างสรรค์แบบนี้ถือเป็นการคิดแบบคิดบวกไหม ก็คงต้องบอกว่าไม่น่าจะถึงขนาดนั้น เพราะมันก็เป็นเพียงชื่อ ไม่มีผลอะไรในเชิงตัวเลขอย่างชัดเจนนัก แต่จะว่าไปมันก็เหมือนกับการตั้งชื่อลูกนั่นละครับ ชื่อที่มีที่มาจากชื่อพ่อหรือชื่อแม่นี่ ความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้นนะครับ ถึงจะไม่บวกเป็นรูปธรรมขึ้นมา แต่ผมว่ามันก็บวกอยู่ในใจทั้งพ่อแม่และลูก
คุณหนามเตยคงน่าจะพอได้คำตอบนะครับเรื่องคิดบวกกับคิดสร้างสรรค์ ทีนี้ก็มาถึงประโยคแรกที่นายลบคิดว่าลูกจ้างขโมยของไป อันนี้เริ่มต้นก็คิดลบก่อนเลย แต่ไม่เสียหายอะไรหรอกครับ เพราะเป็นแค่การสงสัย เพราะประโยคต่อมาของเขาก็บวกเข้าไปอีกหน่อยว่า "หรือขายแล้วลืมลงบัญชี" บวกขึ้นมาอีกนิด แม้จะยังไม่ถึงศูนย์ แต่ก็ยังดี จริงไหมครับ ที่ยังคิดเผื่อ
แต่หลังจากดูภาพของกล้องวงจรปิดแล้วสิครับ นายชาดกับนายลบตีความการนอนค้างที่ร้านของลูกจ้างต่างกันคนละขั้วจริงๆ คนหนึ่งมองว่าลูกจ้างขี้รดบนหลังคาแล้วยังมากินบนเรือน ส่วนอีกคนกลับมองว่าลองกล้านอนบนเรือนอย่างนี้แล้วจะไปขี้รดบนหลังคาได้อย่างไร ตอบคุณยุ้ยตรงนี้ได้เลยว่า ที่นายชาดมองบวกในเรื่องนี้ เขาไม่ได้มองเข้าข้างตัวเองตรงไหนเลยนะครับ เขาเข้าข้างลูกจ้างของเขาถ่ายเดียว แล้วถามว่าการมองต่างกันในประเด็นนี้ของทั้งสองคนก่อให้เกิดผลอะไรบ้าง จินตนาการได้ร้อยแปดครับ นายลบขึ้นไปทำร้ายลูกจ้าง ลูกจ้างเลยทำร้ายกลับ หรือลูกจ้างผูกใจเจ็บกลับมาขโมยของจนหมดร้าน ก็แล้วจะจินตนาการละครับ
แล้วถามว่า ถ้าเกิดลูกจ้างขโมยจริงๆ ละ ผมก็คงต้องถามกลับว่าปรักปรำขนาดนี้ หลักฐานพอไหม (การมองลบของนายลบไม่ใช่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว การสงสัย และป้องกันไว้น่าจะเป็นเรื่องดี)
ส่วนคำถามของคุณแฟนพันธุ์แท้ฯ ที่ถามว่าการมองโลกในแง่ดีนั้นคือการมองอย่างละเลยความจริงหรือเปล่า คงต้องฝากหาคำตอบด้วยตัวเองว่า กรณีนี้นายชาดละเลยความจริงหรือเปล่า
แล้วความจริงคืออะไร ในขณะที่กล้องที่ถ่ายได้ก็ถ่ายได้แค่ภาพลูกจ้างยกพัดลม ใครจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพัดลมตัวนั้นจริงๆ ตอนที่ภาพถ่ายไม่เห็น ในความคิดผม ความสำคัญมันอยู่ตรงนี้ครับ
อยู่ตรงที่เมื่อไม่เราสามารถหาความจริงได้ว่าพัดลมตัวนั้นหายไปไหน เราจะคิดจะมองเรื่องนี้อย่างไร
ฟังภาคสองของนิทานเรื่องนี้ต่อดูครับ บางทีคุณแฟนพันธุ์แท้ฯ อาจจะได้คำตอบ
หลังจากนั้นอีกปีหนึ่ง นายลบกับนายชาดก็แยกร้านกัน ทั้งสองเปิดเป็นร้านตัวแทนจำหน่ายแอร์คอนดิชั่นร้านหนึ่งชื่อวัลลภคลายร้อน อีกร้านหนึ่งชื่อ กาชาดชุ่มฉ่ำ (ความคิดสร้างสรรค์อาจจะน้อยกว่าชื่อร้านเมื่อครั้งที่ร่วมหุ้นกันเล็กน้อย) ทั้งสองร้านขายแอร์ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน และมีฝีมือการติดตั้งเหมือนกัน
จะมีต่างกันก็แต่ใบเรียกเก็บเงินของทั้งสองร้าน ลองดูการมองโลกของทั้งสองคนสิครับ
ร้านวัลลภคลายร้อน เขียนว่า ราคาแอร์พร้อมติดตั้ง ราคายืนไว้ ณ วันวางบิล 30,000 บาทถ้วน แต่ถ้าชำระเงินข้ามเดือนไป ต้องคิดเพิ่ม 1,500 บาท รวมเป็นเงิน 31,500 บาท
ร้านกาชาดชุ่มฉ่ำ เขียนไว้ว่า ราคาแอร์พร้อมติดตั้ง ราคายืนไว้ ณ วันวางบิล 31,500 บาท แต่หากชำระภายในเดือนนี้ ทางร้านจะลดให้ทันที 1,500 บาท เหลือเพียง 30,000 บาท
ใครจะตอบผมได้ว่าความจริงคืออะไร การได้รับเงิน 30,000 บาทนั้นคือความจริงใช่ไหม

ไม่ว่าคำตอบของท่านผู้อ่านแต่ละคนจะออกมาเป็นอย่างไร ผมขอเคารพความคิดไว้แค่นั้นครับ ไม่ขอต่อความยาวสาวความยืด แต่เชื่อผมอย่างหนึ่งเถอะว่า ร้านกาชาดชุ่มฉ่ำนั้นจะเก็บเงินลูกค้าได้ก่อน และครบทุกรายอย่างแน่นอน ประภาส ชลศรานนท์

ข้อคิดดี ๆ เพื่อวันดี ๆ

ข้อคิดเพื่อวันดีๆ


ซื่อสัตย์ และกตัญญู
ตั้งเป้าหมายในชีวิต และทำงานหนัก แต่อย่าเครียด
หากหลายๆ สิ่งจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มองในแง่ดีเข้าไว้ บางทีหลายอย่างมีเหตุผลในตัวของมันเอง
เพียงแต่เราจะมองเห็นหรือไม่ เช่น คุณอาจสอบเข้าเรียนต่อปริญญาโทไม่ได้ เพราะจะทำให้คุณได้คิดและไป
เรียนต่อในต่างประเทศแทนหรือวันนี้คุณทำงานหนักแต่ยังจนอยู่ เมื่อคุณรวยคุณจะได้ซาบซึ้ง และเห็นคุณค่า
ของความรวย พอที่จะทำให้คุณไม่ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ต้องกลับมาจนอีกครั้ง
อย่าวิ่งเร็วเกินไปจนลืมว่ากำลังจะไปทางไหน และในช่วงที่ชีวิตกำลังรุ่งก็อย่าประมาท
ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพราะถึงแม่จะมีปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรง ผลกระทบก็จะน้อยลง
มีเมตตา-ช่วยเหลือผู้อื่น แต่ก็รู้จักปกป้องตัวเองอย่าให้เดือดร้อน
หากคุณรวยมาก ใช้เงินช่วยทำให้สังคมดีขึ้น เพราะบ้านของคุณก็อยู่ในสังคมนี้เหมือนกัน
ยิ้มเวลารับโทรศัพท์ ผู้ที่คุณคุยด้วยสามารถรับรู้ได้จากเสียงของคุณ
ยิ้มให้คนแปลกหน้าบ้าง
หัดมองชีวิตในมุมมองของคนอื่น และเข้าใจคนอื่น รวมถึงยอมรับความแตกต่างของแต่ละคน
ฟังและตีความหมายคำพูดของผู้อื่น อย่างที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ
ในแต่ละเดือนให้เวลาในการมองดู พัฒนา ปรับปรุงตัวเอง
หัดละเอียด รอบครอบ
ใจเย็น และมีสติตลอดเวลา
ไม่ว่าจะยุ่งแค่ไหน วันหนึ่งก็มี 24 ชม. เหมือนเดิม แค่ว่าเราจะใช้เวลาทำอะไร อยู่กับใครเท่านั้น
เข้าหาธรรมชาติ
เดินเท้าเปล่าบนพื้นที่เป็นธรรมชาติบ้างถ้ามีโอกาส
ดูทีวีให้น้อยลง ฟังเพลง อ่านหนังสือให้มากขึ้น
ดูแลสุขภาพให้ดี
Back up ข้อมูลของคุณ
Update โปรแกรมป้องกันไวรัส
Update ข้อมูลข่าวสารของตัวเอง
หากต้องส่งโทรศัพท์มือถือ, Palm, Pocket PC, คอมพิวเตอร์เข้าซ่อม Back up
ข้อมูลที่สำคัญ และลบออกจากเครื่องให้หมดก่อนเสมอ
จงเชื่อในวิทยาศาสตร์ ศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เชื่อมั่นในสิ่งที่คุณควบคุมได้
อย่าคิดเรื่องงาน เรื่องเงิน ในเวลานอน
เวลาอาบน้ำให้อาบใจของคุณด้วยเพื่อคุณจะได้ไม่พาคนที่คุณไม่พอใจที่อาจพบในแต่ละวันเข้านอนกับ
คุณด้วยให้ประชุมตามงานวันพฤหัสบดีแทนวันศุกร์ เพื่อมีอะไรติดใจนะได้คุยได้ในวันศุกร์ เพราะถ้าประชุม
วันศุกร์ เรื่องจะค้างในใจไปในวันเสาร์ – อาทิตย์ ทำให้หงุดหงิดได้ครับ
ดูแล Palm / Pocket PC ของคุณให้ดี
หัดสนใจศิลปะ ลองฟังเพลงไทยเก่าๆ จะมีภาษาที่สละสลวยซ่อนอยู่ หรือดูของโบราณวัตถุที่จะมีศิลปะที่อ่อน
ช้อยซ่อนอยู่
อย่ากลัวความผิดพลาดหรือล้มเหลว เพราะสิ่งผิดพลาด ล้มเหลวนั้นอาจนำมาซึ่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าได้
บางทีชีวิตก็เหมือนการเดิน หรือขี่จักรยานขึ้นเขา หากช่วงที่ซึ่งชีวิตมีปัญหามากๆ และรู้สึกว่ามีเรื่องต้องผ่าฟัน
อีกมาก เหมือนการขึ้นเขาให้มองเฉพาะก้าวที่อยู่ข้างหน้าพอ แล้วค่อยเก้าไปเดี๋ยวก็ถึงเองเพราะหากมองไกล
ไปถึงยอดเข้าคงท้อก่อน แต่หากตอนลงเขาเหมือนชีวิตที่กำลังราบรื่นและวิ่งไปได้เร็ว ให้มองให้ไกลจะได้รู้ว่า
ควรจะเดินไปทางไหนที่ดีที่สุด และสุดท้าย คบคนดีเข้าไว้

การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการพัฒนางานศาลยุติธรรม

ด้วยท่านประธานศาลฎีกา ดำริให้จัดดำเนินการในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารศาลยุติธรรม เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพศาลยุติธรรมและบริการประชาชน” ในครั้งนี้ เป็นการเริ่มศักราชใหม่การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการพัฒนางานศาลยุติธรรม โดยที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้กำหนดแผนกลยุทธ์ศาลยุติธรรม ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2545 – 2549 (ทบทวนครั้งที่ 1 พ.ศ. 2546) กำหนดไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2555 ศาลยุติธรรมจะเป็นองค์กรอัจฉริยะ (Intelligence Organization) ที่เป็นเลิศในการอำนวยความยุติธรรมแก่สังคมและรักษาไว้ซึ่งความเป็นแบบอย่างด้านจริยธรรมและคุณธรรมของสังคม โดยกำหนดให้มีพันธกิจของศาลยุติธรรม 3 ประการ ดังนี้
1. พิจารณาพิพากษาอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว
2. ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอื่นด้วยความเป็นธรรมและรวดเร็ว
3. คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
การนำพาองค์กรศาลยุติธรรมไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้มีการปฏิบัติราชการ
และการบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพสูงสุด อำนวยผลประโยชน์แก่ประเทศชาติ สมควรที่ทุกท่านน้อมรับและยึดถือเป็นตัวอย่างตามเบื้องพระยุคบาทในการปฏิบัติภารกิจของพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งพระองค์ท่านเป็นพระประมุขและมิ่งขวัญของประเทศ ได้ทรงมุ่งมั่นทุ่มเทบำเพ็ญพระราชกรณีกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่งยวด ทรงเอาพระทัยใส่ใจทุกข์สุขของประชาชน ทรงพยายามที่จะแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ทรงมีพระราชวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้าในการช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการพัฒนางานศาลยุติธรรม

ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องช่วยในการพัฒนาองค์กร ระบบบริหารจัดการวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาของศาลยุติธรรมแต่ละแห่งในการให้บริการและแก้ไขปัญหาตรงตามความต้องการของประชาชน หากวันใดที่ต้องการทราบว่าศาลจังหวัดเบตง มีสภาพปัญหาและข้อขัดข้องในการบริการและจัดการองค์การอย่างไร เพียงแต่กดปุ่มข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ของศาลเบตง ก็จะปรากฏขึ้นให้เห็นที่ห้องทำงานของเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม โดยสามารถพูดคุยกับท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษา ผู้อำนวยการและข้าราชการเพื่อรับฟัง รับทราบปัญหาอันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานอย่างยิ่ง ระบบข้อมูลต่าง ๆ ของศาลจะต้องมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานในศาลยุติธรรมและพร้อมที่จะเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นเท่าที่จำเป็นและภายใต้กรอบกฎหมาย
โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนชาวชนบท จะได้รับการอำนวยความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า เมื่อท่านเหล่านี้มาถึงศาลยุติธรรมไม่ว่าจะในฐานะโจทก์ จำเลย นายประกัน จะได้รับการให้บริการที่ สะดวก รวดเร็ว ประหยัด เป็นธรรม โดยเสมอภาค เช่น การขอคัดคำพิพากษาอาจสามารถดำเนินการได้ภายใน 15 นาที เพราะคำพิพากษาจะถูกสะแกนจัดเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งสะดวกต่อการค้นหา เป็นต้น ในอนาคต คู่ความที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ อาจขอคัดคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในกรุงเทพฯ โดยไปยื่นขอถ่ายที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
ในส่วนของการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษา เช่น การยื่นคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนอาจไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหามายังศาล เมื่อศาลอนุญาตให้ฝากขังก็ให้ตำรวจนำตัวผู้ต้องขังส่งเรือนจำ โดยศาลออกหมายขังแล้วให้เจ้าหน้าที่เรือนจำรับไป ซึ่งจะมีความสะดวก รวดเร็ว ลดการเสี่ยงในการชิงตัวผู้ต้องขังหรือการก่อเหตุร้ายในบริเวณศาลดังที่เคยประสบมาในอดีต การยื่นฟ้องอาจยื่นฟ้องโดยผ่านอินเตอร์เน็ท คู่ความไม่ต้องเดินทางมาศาล แม้แต่การส่งประเด็นไปสืบ คู่ความก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังศาลยุติธรรมที่ส่งประเด็นไปสืบ การอ่านคำสั่งของศาลสูงก็เช่นเดียวกัน โดยศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ อาจอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาที่กรุงเทพฯ เพื่อให้คู่ความฟังที่ศาลยุติธรรมต่างจังหวัดนั้นๆ
การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการพัฒนางานศาลยุติธรรมแต่จะมีอุปสรรคในด้านการงบประมาณ บุคลากร และกฎหมายก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินการและแก้ไขระบบกฎหมายควบคู่กันไปได้
ในที่สุดนี้ ผมต้องการให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศคิดที่ปรับปรุงระบบ ระเบียบ ที่มีความยุ่งยาก เสียเวลา ล่าช้า น่าเบื่อหน่าย ให้เป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และให้ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งคิดหาวิธีการภายใต้กรอบกฎหมายเพื่อให้คดีลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลด้วย เช่น การนำวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญามาบังคับใช้ เป็นต้น และขอให้ทุกท่านได้ตระหนักเสมอว่า ท่านทั้งหลาย “เป็นผู้ให้” ส่วนประชาชนนั้นเป็น “ผู้รับ” เพราะการให้ เป็นมงคลของชีวิต

รวมวิทยาการเทคโนโลยี่และกฎหมาย

กฎหมายมหาชน

นโยบายประหยัดพลังงาน

ในวันนี้ (1 มิ.ย.48) เป็นวันคิกออฟนโยบายประหยัดพลังงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล ในเวลาประมาณ 20.45 น.โดยมีนายกฯ ทักษิณ และเหล่าสาวงามจากการประกวดมิสยูนิเวิร์สเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาต่อโครงการดังกล่าวส่วนมากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่จะดีที่สุดถ้าเจ้าของโครงการทำได้.... เพราะในวันนี้เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2548 เป็นวันที่ทางรัฐบาลได้เชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน และนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวไว้ในรายการ “นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน” เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2548 เวลา 08.00 น. ถึงเรื่องปัญหาขาดดุลการค้าของประเทศไทย เพื่อไม่ให้ขาดดุลการค้าเป็นระยะเวลานานจึงต้องลดการขาดดุลด้วยการใช้วัตถุดิบในประเทศ และต้องประหยัดพลังงาน มาตรการที่ทางภาครัฐบาลได้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน อาทิ การให้ทุกบ้านปิดการใช้แสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าอย่างน้อย 1 ดวง หลังเวลา 20.45 น. เชื่อว่าจะประหยัดงบประมาณได้ถึง 1,200 ล้านบาท และในวันนี้ถือเป็นวันเปิดตัวโครงการรณรงค์ให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานพร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีนายกฯ มาเป็นประธานเปิดโครงการคิกออฟประหยัดพลังงานที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วยแขกรับเชิญพิเศษ “มิสยูนิเวิร์สคนล่าสุด และนางสาวเจนิเฟอร์ ฮอว์กกินส์ มิสยูนิเวิร์ส 2004 พร้อมด้วยผู้เข้าประกวดทั้งหมด 80 ประเทศ” ในเวลา 20.00 น. ส่วนรายละเอียดของงานจะเชิญชวนประชาชนทั้งประเทศ ปิดไฟบ้านละ 1 ดวง เป็นเวลา 5 นาที ในเวลา 20.45-20.50 น. พร้อมกันทั่วประเทศ โดยในส่วนของทำเนียบฯจะมีการปิดไฟทุก ส่วนต่างจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจะเป็นประธานในการปิดไฟบ้านละ 1 ดวง ที่ศาลากลางของแต่ละจังหวัด หรือสถานที่ที่จังหวัดคิดว่าเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีมาตรการปิดเครื่องปรับอากาศ 1 ชั่วโมงต่อหลังต่อวัน ปัจจุบันในไทยมีเครื่องปรับอากาศ รวมกัน 1 ล้านเครื่อง จะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 63 ล้านบาทต่อเดือน และมาตรการขับรถความเร็วไม่เกิน 90 กม.ต่อชั่วโมง จะทำให้มีการประหยัดการใช้น้ำมัน 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ด้านความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาต่อการที่ทางภาครัฐออกมารณรงค์ประหยัดพลังงาน ส่วนมากแล้วบอกถือเป็นโครงการที่ดี แต่จะได้ผลผู้นำต้องทำให้ได้จริงๆ ก่อน... “ปิ๊ก” ฤดี สุรพงรักตระกูล นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ส่วนตัวก็เห็นด้วยกับนโยบายนี้เพราะเป็นการออกมากระตุ้นให้คนได้เริ่มหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น และตัวโครงการก็ดูดี... “ปิ๊กว่าโดยรวมแล้วเป็นเรื่องที่ดีค่ะ และเห็นด้วย รวมทั้งพร้อมจะทำตามอย่างยิ่ง คนทั่วไปจะได้เริ่มใส่ใจในเรื่องนี้กันมากขึ้นและคิดว่าด้วยการโปรโมตตามสื่อต่างๆ น่าจะทำให้นโยบายนี้ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าจะให้ดีผู้ที่ออกแคมเปญนี้มาควรจะทำตัวเป็นแบบอย่างให้ได้ก่อนจะยิ่งดีมากๆ” “ต้อง” สถิตย์ เจนเลื่อน นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ถ้ามองเฉพาะตัวแคมเปญนี้ถือว่าดีเพราะหากทุกคนทำตามก็จะสามารถประหยัดพลังงานไปได้เยอะทีเดียว “เรื่องนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย คือแค่ปิดไฟหนึ่งดวงจะไปช่วยประหยัดอะไรได้ แต่ถ้าทุกคนช่วยกันผมว่ามันจะประหยัดไปได้อีกเยอะ แต่หากมองกันให้ลึกจริงๆ แล้ว เรื่องของการประหยัดพลังงานต้องขึ้นอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคน ฉะนั้น เราควรหันมาร่วมปลูกจิตสำนึก ซึ่งตรงนี้ผมก็มองเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลอยู่เหมือนกัน และผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่จะลองทำตามนโยบายนี้” “ตี๋” ปรีดี อัศวพานิชพันธ์ นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความคิดเห็นว่าโครงการนี้ไม่น่าจะเวิร์กเอาเสียเลย เพราะรัฐบาลเอง ทั้งคณะรัฐมนตรีทั้งหลายก็ไม่รู้ว่าจะทำกันได้หรือเปล่า “ผมว่าโครงการนี้ไม่น่าจะเวิร์กหรอกครับ เพราะต่อให้รัฐมนตรีเอง ผมว่าเขาคงไม่ทำกันหรอก หรือทำไปก็คงทำได้ไม่นาน อย่างเช่นการรณรงค์เรื่องให้คนหันมาใช้บริการรถเมล์ เรือ รถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดิน ก็ยังไม่เห็นว่ารัฐมนตรีคนไหนจะเปลี่ยนไปทำตามโครงการกันได้สักคน แล้วอย่างนี้จะมาให้คนอื่นทำตามได้อย่างไร และถ้าถามผมว่าจะทำตามไหมคงต้องบอกว่าปกติตรงไหนที่ไม่ต้องการแสงสว่างก็ไม่ได้เปิดอยู่แล้ว”

Sunday, August 06, 2006

ประเภทของระบบสารสนเทศ

ระบบสารสนเทศนั้นเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผลข้อมูล และผลิตสารสนเทศออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ ระบบสารสนเทศเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และผู้ใช้ที่แตกต่างกันด้วย
ระบบสารสนเทศแบบหนึ่งอาจใช้ในการบันทึกข้อมูลธุรกรรมที่ได้รับจากลูกค้า ส่วนระบบสารสนเทศอีกหนึ่งอาจใช้ในการทำสารสนเทศสำหรับช่วยสนับสนุนผู้บริหารในการตัดสินใจ
ระบบสารสนเทศจำแนกได้หลายแบบ แบบที่นิยมกันมากคือ แบ่งตามระดับการใช้งานในองค์การ คือ เป็นระบบที่ใช้ในการบริหารงานระดับล่าง หรือในระดับสูง และที่นิยมแบ่งอีกแบบหนึ่งคือ แบ่งตามลักษณะของหน่วยงาน
ประเภทระบบสารสนเทศแบ่งตามระดับการใช้งาน แบ่งได้ดังนี้
1. ระบบประมวลธุรกรรม(Transaction Processing System – TPS)
2. ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ(Management information System – MIS)
3. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ(Decision Support System – DSS)
4. ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร(Executive Information System – EIS)
5. ระบบผู้เชี่ยวชาญ(Expert System – ES)

ประเภทระบบสารสนเทศแบ่งตามลักษณะหน่วยงานหรือตามประเภทของงาน อาจแบ่งได้มาก เช่น
1. ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital Information System)
2. ระบบสารสนเทศโรงเรียน (School Information System)
3. ระบบสารสนเทศการตลาด (Marketing Informaiton System)
4. ระบบสารสนเทศการขาย (Sales Information System)
5. ระบบสารสนเทศบุคลากร (Personnel Information System)
6. ระบบสารสนเทศการเงิน (Financial Information System)
7. ระบบสารสนเทศบัญชี (Account Information System)
ต่อไปนี้ขออธิบายถึงระบบสารสนเทศที่จำแนกตามระดับผู้ใช้มาอธิบาย ดังนี้

ระบบประมวลผลธุรกรรม
ระบบสารสนเทศที่เกี่ยวกับการรับธุรกรรม(Transaction) ที่เกิดขึ้นมาบันทึกข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ จากนั้นประมวลผลกับธุรกรรมตามคำสั่งหรือโปรแกรมที่กำหนด ผลที่ได้จากการประมวลผลอาจเป็นเอกสารธุรกิจ หรือรายงานต่าง ๆ เช่น ในธุรกิจธนาคาร ระบบประมวลผลธุรกรรมก็จะเป็น ระบบฝาก ถอนเงินโดยทั่วไป นั่นคือ เมื่อมีผู้นำเงินมาฝาก ก็จะทำให้เกิดข้อมูลธุรกรรมการฝากขึ้น ระบบก็บันทึกข้อมูลการฝากลงในบัญชีลูกค้ารายนั้น

ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ เรียกได้อีกอย่างว่า ระบบ MIS เป็นระบบที่ประกอบไปด้วยโปรแกรมต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อขยายขอบเขตความสามารถของระบบประมวลผลธุรกรรม การขยายนี้กระทำโดยการจัดหาข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อมูลธุรกรรมมาบันทึกเก็บไว้ในฐานข้อมูลด้วย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คู่แข่ง เศรษฐกิจ กฎระเบียบ ความต้องการของตลาด ฯลฯ จากนั้นก็นำข้อมูลทั้งหมดมาจัดทำเป็นรายงานสารสนเทศแบบต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้บริหาร

ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ
ระบบประมวลผลธุรกรรมช่วยให้ทราบว่าหน่วยงานมีผลการดำเนินงานอย่างไรเป็นภาพกว้าง ๆ และระบบ MIS ทำให้ทราบว่า หน่วยงานมีปัญหาอะไรบ้าง? เมื่อทราบปัญหาแล้ว ผู้บริหารจะต้องใช้ความสามารถของผู้บริหารเองในการแก้ไขหรือดำเนินการอย่างไรกับปัญหานั้น ๆ
เมื่อผู้บริหารเกิดแนวคิดในการแก้ไขปัญหานั้น ผู้บริหารก็ย่อมจะต้องการทราบต่อไปว่า หากดำเนินการตามแนวคิดนั้นจะเกิดผลลัพธ์อย่างไร จะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่? ยิ่งหากผู้บริหารคิดหาแนวทางเลือกไว้หลายทาง ผู้บริหารยิ่งต้องการทราบว่า ทางเลือกใดที่ดีที่สุด
ในกรณีเช่นนี้ผู้บริหารก็จำเป็นต้องอาศัยระบบสารสนเทศที่เรียกว่า ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ แต่เป็นระบบที่ผู้บริหารใช้ประกอบการตัดสินใจเท่านั้น ไม่ใช้ระบบที่จะตัดสินใจได้ด้วยโปรแกรม ระบบนี้จะช่วยการพิจารณาดูว่า จะต้องทำอย่างไรถึงจะเหมาะ ช่วยให้ตัดสินใจมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะไม่ได้ตัดสินใจโดยการเดาสุ่ม แต่อาศัยสูตรหรือแนวคิดทางด้านวิชาการจัดการ (Management Science) เข้ามาช่วย
องค์ประกอบที่สำคัญของระบบสนับสนุนการตัดสินใจ คือ
1. ฐานข้อมูลสำหรับเก็บข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องการตัดสินใจ
2. แบบจำลอง (Model) หรือสูตรคณิตศาสตร์ที่ใช้สำหรับพยากรณ์ผลลัพธ์ของการตัดสินใจ
3. ระบบโต้ตอบเป็นภาษาธรรมชาติ หรือระบบที่ช่วยให้ใช้ง่าย เช่น เป็นระบบแบบโปรแกรม Windows

ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร
เป็นระบบสำหรับผู้บริหารระดับสูงมากในหน่วยงาน เรียกว่า ระบบ EIS ส่วนระบบ MIS จะเหมาะกับผู้บริหารระดับล่างและกลาง ซึ่งใช้ข้อมูลภายในหน่วยงานเป็นส่วนใหญ่
ระบบ EIS สำหรับผู้บริหารระดับสูงนั้นมีความต้องการสารสนเทศที่แตกต่างไปจากทุกระบบที่กล่าวมา คือ ต้องการสารสนเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คู่แข่ง และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกมากกว่า
ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร อาจจะมีข้อมูลให้ผู้บริหารใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น อาจเป็นกฤตภาคข่าว(Clipping) จากหนังสือพิมพ์ ซึ่งพนักงานตัดข่าวส่วนที่เกี่ยวกับหน่วยงานแล้วสะแกน(Scan)เก็บไว้ในระบบเครือข่าย หรืออาจจะเป็นข่าวย่อที่มีบริษัทหลายแห่งจัดทำเพื่อให้บริการก็ได้
ระบบ EIS ที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ความจริงควรจะสร้างให้ต่อเนื่องกับระบบประมวลผลธุรกรรม

ระบบผู้เชี่ยวชาญ
ระบบสารสนเทศที่ก้าวหน้าไปมากขึ้นอีก ก็คือ ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) หรือเรียกว่า ระบบ ES เป็นระบบที่ใช้เทคนิคขั้นสูงในการจัดทำฐานความรู้(Knowledge Base) ขึ้นใช้งาน
ระบบ ES เป็นระบบที่จัดทำขึ้นเพื่อเก็บความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานต่าง ๆ เอาไว้เป็นฐานความรู้ในการทำงาน หรือแม้แต่เป็นความรู้ให้กับคนรุ่นต่อไปได้ศึกษาและใช้ประโยชน์ และนำความรู้นั้นมาบันทึกเก็บไว้ในฐานความรู้ของระบบ
ระบบ ES มีจุดมุ่งหมายอยู่ 2 ประการ คือ
1. ทำหน้าที่ในการสอบถามความรู้ และเก็บบันทึกความรู้ของผู้เชี่ยวชาญไว้ในฐานความรู้ของระบบ
2. ทำให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญน้อย หรือขาดประสบการณ์ด้านนั้น ๆ สามารถทำงานได้เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการทำงานมานาน

ระบบสารสนเทศแบบอื่น
ระบบสารสนเทศแบบอื่น ๆ ยังมีอีกมากมาย เช่น ระบบสารสนเทศสำนักงาน (Office Information System) เป็นระบบที่ใช้สำหรับสร้างและจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของสำนักงาน โดยเฉพาะที่เป็นเอกสาร หรือรายงาน ซี่งระบบนี้มีความหมายคล้ายกับระบบสำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation หรือ OA) สำนักงาน OA เน้นการใช้อุปกรณ์อัตโนมัติเข้ามาช่วยในการทำงาน เช่น ใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมประมวลผลคำสำหรับพิมพ์เอกสาร
***********

Friday, August 04, 2006

รวมบทความเกี่ยวกับกฎหมาย

บทความ ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย
เกี่ยวกับระบบกล่าวหา ระบบไต่สวน

ได้บันทึกไว้ในหนังสือบทบัณฑิต เล่ม ๑๒ หน้า ๓๓๙ ว่า “ระบบกฏหมายภาคพื้นยุโรปได้แตกต่างกับระบบแห่งกฎหมายอังกฤษในข้อที่ว่า ทางภาคพื้นยุโรปหนักไปในทางหลักค้นคว้าหาความจริง (Das Imquisitionsprinzip) ซึ่งอัยการและผู้พิพากษาช่วยกันค้นคว้าหาความจริงและพิพากษาตามความจริงที่ค้นพบ ซึ่งตามหลักนี้ อัยการย่อมไม่มีฐานะอยู่ในลำดับเดียวกับจำเลย ศาลเยอรมันถึงกับให้อัยการนั่งอยู่บนบัลลังก์เช่นเดียวกันผู้พิพากษา ส่วนระบบแห่งกฎหมายอังกฤษหนักไปในทางที่ถือว่าอัยการเป็นคู่คดีเท่าเทียมกับจำเลย สำหรับประเทศไทยในขณะที่ใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความมีโทษใช้ไปพลางก่อน ร.ศ.๑๑๕ ก็ได้ยอมรับเอาระบบกฎหมายอังกฤษ” การที่ประเทศไทยได้รับเอาระบบกฎหมายของอังกฤษมาใช้ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดคำพูดติดปากกันมาจนกระทั่งปัจจุบันว่ากระบวนวิธีพิจารณาความอาญาในประเทศไทยเป็น “ระบบกล่าวหา” ซึ่งตามความจริงกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยมิได้เป็นระบบกล่าวหาทั้งหมด แต่เป็นการผสมผสานกันทั้งสองระบบ และทุกประเทศก็มีลักษณะเช่นนี้ จากความเคร่งครัดในการดำเนินดคีระบบกล่าวหาอย่างยิ่ง จึงส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายประการ อันควรได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น จึงควรศึกษาในเรื่องนี้ไว้ด้วย เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ๑. ความหมายโดยสรุปของวิธีพิจารณาความอาญาระบบกล่าวหาและระบบไต่สวน ๑.๑ ระบบกล่าวหา การดำเนินคดีระบบกล่าวหามีที่มาจากประเทศอังกฤษและกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่นสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ แคนาดา รวมทั้งกลุ่มประเทศอาณานิคมของอังกฤษ หลักการของระบบกล่าวหา มีวิวัฒนาการจากการแก้แค้นกันระหว่างผู้กระทำผิดกับผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดด้วยตนเอง แล้วรวบรวมพยานหลักฐานมานำสืบพันธุ์ความผิดของจำเลยในศาล ส่วนศาลหรือผู้พิพากษาจะวางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด ดังนั้นในระบบกล่าวหาจึงแบ่งบุคคลในดคีอาญาออกเป็น ๓ ฝ่าย คือ ผู้เสียหายซึ่งทำหน้าที่เป็นโจทก์ จำเลย และศาล เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีแนวความคิดมาจากการพิจารณาดคีในสมัยโบราณ ซึ่งใช้วิธีทรมาน (trial by ordeal) และทำให้ทั้งสองฝ่ายต่อสู้คดีกันเอง (trial by battle) ส่วนศาลจะทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือกรรมการ ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นการเอาพยานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย โดยฝ่ายโจทก์จะเอาพยานที่เป็นพรรคพวกของตนมาเบิกความกล่าวหาจำเลย ส่วนจำเลยก็เอาพวกของตนมาเบิกความรับรองความบริสุทธิ์ของตนให้ศาลฟังแล้วตัดสินคดีไปตามน้ำหนักพยานของแต่ละฝ่าย จากการที่ใช้วิธีการต่อสู้คดีกันนั้นเอง ระบบกล่าวหาจึงให้ความสำคัญอย่างสูงต่อหลักเกณฑ์ต่อไปนี้คือ ๑. หลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ๒. จำเลยมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานหักล้างพยานโจทก์เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ๓. ถือหลักสำคัญว่าโจทก์และจำเลยมีฐานะในศาลเท่าเทียมกัน แม้โจทก์จะเป็นพนักงานอัยการซึ่งทำหน้าที่ในนามของรัฐก็จะมีฐานะเท่ากับจำเลยซึ่งเป็นราษฎร ๔. ศาลหรือลูกขุน (Jury) จะวางตนเป็นกลางโดยเคร่งครัด ทำหน้าที่เหมือนกรรมการตัดสินกีฬาคอยควบคุมให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายลักษณะพยานโดยเคร่งครัด การปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์อาจถูกศาลพิพากษายกฟ้องได้ ๕. มีหลักคุ้มครองสิทธิของจำเลยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาคดีต้องกระทำต่อหน้าจำเลย การให้สิทธิซักค้านพยานโจทก์และการให้สิทธิจำเลยที่จะมีทนายความคอยช่วยเหลือในการดำเนินคดี ๖. ศาลจะมีบทบาทค้นหาความจริงน้อยมาก เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของคู่กรณีจะฟ้องแสวงหาพยานมาแสดงต่อศาลด้วยตนเอง ดังนั้น บางครั้งในทางวิชาการจึงเรียกกันว่าระบบคู่ความ (adverary system) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีแพ่งศาลจะไม่เข้าไปมีบทบาทในการแสวงข้อเท็จจริงเลย ส่วนคดีอาญาก็จะเข้าไปช่วยหาความจริงบ้างในบางกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เช่น ซักถามพยานเท่าที่จำเป็นเพื่อความเป็นธรรมแก่จำเลยและศาลจะซักเพื่อให้ข้อเท็จจริงชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น แม้ว่าบางกรณีคู่ความจะพลั้งเผลอไม่เสนอพยานหลักฐานให้ศาลทราบ ศาลก็วางตัวเป็นกลางจะไม่แนะนำหรือช่วยเหลือ โดยซักถามเพิ่มเติมหรือเรียกพยานมาสืบเอง ดังนั้น ประเทศที่ใช้ระบบกล่าวหา โจทก์ที่เป็นราษฎรผู้เสียหายหรือที่มีพนักงานอัยการทำหน้าที่เป็นโจทก์จะมีบทบาทอย่างสูงในการดำเนินคดี เพราะต้องทำหน้าที่และหาพยานหลักฐานแล้วนำสืบพยานในศาลแต่ต้นจนจบ ๑.๒ ระบบไต่สวน ระบบไต่สวนพิจารณาได้วิวัฒนาการมาจากระบบกล่าวหามีที่มาจากกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ ซึ่งใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือระบบประมวลกฎหมาย (Civil law) ซึ่งมีที่มาจากระบบกฎหมายโรมัน ในระบบไต่สวนไม่ใช่วิธีการให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นราษฎรทำหน้าที่เป็นโจทก์ฟ้องกล่าวโทษผู้กระทำผิด แต่จะให้เจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่เป็นโจทก์แทน ซึ่งปัจจุบันปกติก็คือพนักงานอัยการนั่นเอง สาระสำคัญของระบบไต่สวนสรุปได้ดังนี้ ๑. ในทางทฤษฎียอมรับกันว่าระบบไต่สวนมีที่มาจากศาลทางศาสนาของคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิคในสมัยกลาง ซึ่งทางศาสนจักรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสันตปาปาแห่งกรุงโรม มีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักรคือ กษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ในสมัยกลาง ศาลศาสนาของยุโรปมีวิธีการพิจารณาคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายของทางศาสนาด้วยวิธีการซักฟอกพยานในรูปของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับคดีโดยตรง คือ พระผู้ทำการไต่สวนกับผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ถูกไต่สวน โดยไม่ต้องมีผู้พิพากษาเป็นคนกลาง ดังนั้น ในศาลศาสนา ผู้ไต่สวนจึงต้องทำหน้าที่แสวงหาพยานหลักฐาน ซักถามพยานและชำระความโดยไต่สวนคดีด้วยตนเองตลอด และโดยที่สันตปาปามีอิทธิพลเหนือกษัตริย์ยุโรปในสมัยกลางอิทธิพลของศาลศาสนาจึงได้ถูกนำมาใช้ในศาลของทางบ้านในคดีความผิดอาญาทั่วๆไปด้วยและวิวัฒนาการมาเป็นระบบไต่สวนเช่นปัจจุบัน ๒. ตามระบบไต่สวน ศาลไม่ได้ทำหน้าที่วางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดเหมือนระบบกล่าวหาแต่จะทำหน้าที่ค้นหาความจริงด้วยตนเอง ดังนั้น ในระบบไต่สวนเอง คนอื่นหากจะซักถามพยานต้องได้รัอนุญาตจากศาลเสียก่อนการพิจารณาคดีในระบบไต่สวนมิใช่การต่อสู้คดีกันระหว่างคู่ความ แต่เป็นการต่อสู้กันระหว่างจำเลยกับรัฐ ปกติการพิจารณาคดีมิได้กระทำโดยเปิดเผยและใช้การพิจารณาจากเอกสารมากกว่าการเบิกความของพยานบุคคล ๓. ในระบบไต่สวนนี้ศาลจะมีบทบาทในการดำเนินคดีอย่างสูง ผิดกับในระบบกล่าวที่ศาลมีบทบาทน้อยมากเพราะต้องวางตัวเป็นกลาง กล่าวคือ ในระบบไต่สวนศาลจะทำหน้าที่ค้นหาความจริงด้วยตนเองตั้งแต่ชั้นสอบสวนตลอดมาจนกระทั่งการดำเนินคดีในศาลการฟ้องการต่อสู้และการให้การ ปกติกระทำโดยศาลซึ่งจะให้พยานเล่าเรื่องจนจบแล้วศาลจะซักถามเพิ่มเติมในภายหลัง ทนายจะซักถามพยานได้ก็โดยขอให้ศาลเป็นผู้ถามให้ ๔. โดยที่ระบบไต่สวนเน้นในเรื่องการค้นหาความจริงเป็นหลัก ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการดำเนินคดี เช่น การสืบพยาน การดำเนินต่างๆ ในศาลจึงยืดหยุ่นกว่าระบบกล่าวหา และไม่ได้ให้ความสำคัญในหลักการเท่าเทียมกันระหว่างโจทก์และจำเลยในศาล เพราะเป็นการต่อสู้คดีระหว่างจำเลยกับรัฐโดยตรง ดังนั้น การฟ้องคดีอาญาจึงต้องกระทำในนามของรัฐ ราษฎรมีบทบาทในการฟ้องคดีอาญาเองอย่างจำกัดยิ่ง ๕. ตามระบบไต่สวนถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐแสวงหาความจริง และให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยอยู่แล้ว ดังนั้น การพิจารณาคดีจึงอาจทำลับหลังจำเลยได้ และคู่ความคือทนายจำเลยและอัยการมีบทบาทในคดีอาญาน้อยมาก เพราะบทบาทจะตกอยู่กับผู้พิพากษาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ทนายความจึงมีบทบาทจำกัดยิ่งในการซักถามพยาน ซึ่งต่างกับระบบกล่าวหาที่พนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายแผ่นดินกับทนายความของเอกชนจะมีบทบาทอย่างสูงในการดำเนินคดีและการซักถามพยานในศาล สรุป ปัจจุบันระบบกล่าวหาหรือระบบไต่สวนเป็นเพียงทฤษฎีทั้งประเทศที่ใช้ระบบกล่าวหาหรือระบบไต่สวน ต่างก็นำหลักเกณฑ์ของทั้งสองระบบมาใช้ในการพิจารณาคดีในศาลของตนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไป โดยสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่มีประเทศใดกล่าวได้ว่าประเทศตนใช้ระบบใดระบบหนึ่งอย่างเด็ดขาด ดังเช่น ฝรั่งเศสซึ่งเป็นต้นแบบของระบบไต่สวนก็นำระบบลูกขุนของอังกฤษมาใช้ในประเทศตน แต่ในทางปฏิบัติไม่ใคร่ได้ผลดี เพราะลูกขุนของฝรั่งเศสไม่ไว้วางใจผู้พิพากษาในระบบไต่สวนและเกิดความเห็นใจสงสารจำเลย จึงมักต่อรองกับผู้พิพากษาให้ลงโทษจำเลยสถานเบา มิฉะนั้นจะวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ผิด อนึ่ง ต่อมาฝรั่งเศสได้มีวิธีการให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาทางอ้อม โดยฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา เพื่อให้ศาลหยิบยกคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกันมาพิจารณาด้วย ส่วนอังกฤษก็นำระบบการฟ้องคดีอาญาโดยรัฐจากฝรั่งเศสมาใช้ โดยมีพนักงานอัยการตำแหน่งที่เรียกว่า “Director of Public Prosecution” (D.P.P.) มาฟ้องคดีอาญาที่มีความสำคัญบางประเภท เป็นต้น ฯลฯ ๑.๓ ระบบกล่าวหาในประเทศอังกฤษ สำหรับวิธีพิจารณาความอาญาแบบกล่าวหาของอังกฤษนั้น เป็นการต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างโจทก์และจำเลยต่อหน้าศาลซึ่งจะวางตัวเป็นกลาง และมีลูกขุนซึ่งเป็นสามัญชนเป็นผู้วินิจฉัยข้อเท็จจริง ตามวิธีการผู้พิพากษาจะต้องไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด ต้องให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยถือว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเท่าเทียมกัน โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิด จำเลยก็พยายามนำสืบแก้ว่าตนมิได้กระทำความผิด เดิมอังกฤษไม่มีอัยการกระทำหน้าที่ฟ้องคดีอาญาโดยเฉพาะ แต่ให้สิทธิประชาชนฟ้องคดีอาญาตามหลักการที่ว่าบุคคลจะฟ้องคดีอาญาใด ๆ ก็ได้ (Anyone mny Prosecute) โดยอังกฤษถือหลักว่าพลเมืองทุกคนมีพันธะหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องช่วยกันรักษากฎหมายระเบียบบ้านเมือง อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. ๑๘๙๗ อังกฤษได้ตั้งตำแหน่ง Director of Public Prosecution (D.P.P.) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือทางกฎหมายแก่องค์การของรัฐบาล แก่ตำรวจหรือเอกชนและมีอำนาจหน้าที่ฟ้องร้องคดีที่มีโทษประหาร หรือในคดีที่เห็นว่ายุ่งยาก หรือสำคัญอาจเข้าแทรกแซงตามที่เห็นสมควร และหน้าที่สำคัญอีกประการคือประการคือการประสานงานการฟ้องร้องคดีอาญาของอังกฤษซึ่งยุ่งยากสับสนให้ดำเนินไปได้ด้วยดี นับเป็นการนำวิธีการให้มีตัวแทนรัฐทำหน้าที่ฟ้องร้องคดีอาญาในศาลตามแบบของฝรั่งเศสมาใช้ในระบบกฎหมายอังกฤษ หน้าที่ของผู้พิพากษาอังกฤษในระหว่างการพิจารณาด้านการซักถามพยานนั้น ท่านผู้ทรงคุณวุฒิได้กล่าวไว้ดังต่อไปนี้ “การซักถามพยาน (รวมทั้งจำเลยหากเข้าเบิกความเป็นพยาน) กระทำโดยทนายของคู่ความ โดยปกติศาลซักถามพยานเพียงเป็นการเพิ่มเติมเท่านั้น การที่ผู้พิพากษาไม่ใคร่ได้ร่วมในการซักถามพยานนี้เป็นลักษณะสำคัญของการดำเนินการพิจารณาของอังกฤษและประเทศที่รับอิทธิพลในวิธีนี้จากอังกฤษ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย ความจริงเป็นวิธีการดั้งเดิมของการพิจารณาความอาญาในประเทศยุโรป โดยทั่วไปคือผู้พิพากษามีหน้าที่เพียงเป็นกรรมการในการใช้กำลังต่อสู้ระหว่างคู่ความเพื่อพิสูจน์ว่าใครควรเป็นผู้ชนะความ แต่ว่ายังคงอยู่ในรูปเดิมเฉพาะในอังกฤษเท่านั้น ในภาคพื้นยุโรปได้เปลี่ยนไปใช้วิธีให้ผู้พิพากษาทำการไต่สวนซักถามพยานเองตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ ๑๒ เรียกว่า Inquisitorial System ต่างกับวิธีของอังกฤษซึ่งเรียกว่า Accusatiorial System แม้ในอังกฤษเองก็ได้รับวิธีนี้ไปใช้อยู่สมัยหนึ่งในศาลทางศาสนา Ecciesiastlcal Court และศาล Star Chamber คู่กันไปกับวิธีการทรมานในระหว่างศตวรรษที่ ๑๖ และ ๑๗ และศาลธรรมดาก็ได้รับวิธีการนี้เข้าใช้ด้วยในราวศตวรรษที่ ๑๗ ในปัจจุบันนี้ถือว่าธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้พิพากษาไม่เข้าซักถามพยานเสียเองเป็นหลักสำคัญของวิธีพิจารณาความอาญา Load Howert ซึ่งเคยเป็น Lord Chief Justice เคยให้คำแนะนำว่า “ผู้พิพากษามีหน้าที่สงบปากสงบคำจนกระทั่งถึงวินาทีสุดท้ายและพยายามที่จะให้ฉลาดเท่าที่ตนได้รับจ้างให้มาวางท่า” ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากความคิดเห็น ๒ ประการคือ ประการแรก ถ้าผู้พิพากษาเข้าไปซักถามพยานเสียเองก็เท่ากับเข้าไปมีส่วนร่วมในการโต้เถียง ทำให้ไม่อาจให้คำแนะนำแก่ลูกขุนได้ดีเท่าที่ควร เพราะจะเกิดมีความลำเอียงขึ้นแล้ว อีกประการหนึ่งอาจทำให้คู่ความรวมทั้งผู้อื่นเห็นได้ว่าผู้พิพากษาลำเอียงในทางใดทางหนึ่ง แม้ความจริงจะไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาจะซักถามพยานไม่ได้เลย กรณีที่ศาลอุทธรณ์ตำหนิการซักถามพยานของผู้พิพากษา ก็มักจะเนื่องมาจากพยานถูกซักเสียจนตอบไปเกินที่ตนรับว่าจำเหตุการณ์ได้ หรือถามไปในทำนองที่ให้เกิดความรู้สึกว่าผู้พิพากษาแน่ใจแล้วว่าจำเลยทำผิดจริง หากผู้พิพากษาปฏิบัติไปโดยเที่ยงธรรมและคำนึงถึงสิทธิของจำเลยก็อาจจะถามพยานได้ และถ้าจะให้ดีก็ควรถามภายหลังคู่ความซักถามพยานนั้นเสร็จแล้ว เป็นการซักถามเพิ่มเติมถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความยังไม่ได้ซักถามให้ปรากฏแจ้ง……… ๒. วิธีพิจารณาคดีระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนในกฎหมายไทย ๒.๑ ประวัติที่มา เมื่อพิจารณาถึงวิวัฒนาการของวิธีพิจารณาในคดีอาญาในประเทศจะพบว่ามีทั้งระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนผสมผสานกันมาตั้งแต่ก่อนปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนในศาลไทยดังกล่าวข้างต้น มิใช่เกิดจากการได้รับแนวความคิดมาจากต่างประเทศ แต่เป็นวิธีการชำระคดีของไทยเองโดยแท้ ตามประวัติศาสตร์ของกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนของต่างประเทศนั้น ในครั้งโบราณก็มีวิธีชำระคดีในศาลไทยในอดีตดังกล่าวมาแล้วเพียงแต่ต่อมาทั้งสองระบบได้พัฒนาให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นระบบสากลและเป็นที่ยอมรับในระบบกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ตัวอย่างของการใช้ระบบการกล่าวหาในศาลไทยก่อนการปฏิรูปกฎหมายสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็โดยที่ประเทศได้แบ่งองค์ประกอบของการชำระคดีในศาลออกเป็น ๔ ฝ่าย คือ จ่าศาล ลูกขุน ตุลาการ และผู้ปรับบท การฟ้องคดีเป็นหน้าที่ผู้เสียหายมาฟ้องให้ถ้อยคำแก่จ่าศาล เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีพนักงานอัยการ จ่าศาลจะจดถ้อยคำเสนอต่อลูกขุน ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่างกับลูกขุนของอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาที่เป็นบุคคลธรรมดา ลูกขุนจะพิจารณาว่าคำฟ้องชอบหรือไม่ หากเห็นว่าชอบก็จะประทับฟ้องแล้วส่งให้กระทรวงเจ้าของเรื่องพิจารณาเนื่องจากในแต่ละกระทรวงจะมีศาลของตนเอง และมายกเลิกเมื่อมีการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรม โดยรวมศาลในสังกัดกระทรวงต่าง ๆ มารวมไว้ในกระทรวงยุติธรรมพียงแห่งเดียวในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตุลาการศาลในสังกัดกระทรวงต่าง ๆ จะพิจารณาคดีโดยเรียกโจทก์-จำเลยมาให้การที่ศาลและคุมตัวจำเลยไว้ทำการสืบพยาน เมื่อสืบพยานเสร็จก็จะส่งกลับไปให้ลูกขุนชี้ขาดข้อเท็จจริงว่าผิดหรือไม่ หากลูกขุนวินิจฉัยว่าผิดก็จะส่งไปให้ผู้ปรับบทซึ่งจะปรับบทว่าจะเลยผิดกฎหมายอะไรมีโทษอย่างไร ตัวอย่างของระบบไต่สวนในศาลไทยก่อนการปฏิรูปกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็คือ ตุลาการจะทำการสืบพยานเอง จึงเป็นการต่อสู้คดีระหว่างจำเลยกับรัฐคือตุลาการเหมือนระบบไต่สวนของยุโรปตุลาการมีอำนาจโบย กักขังคู่ความเพื่อเค้นหาความจริงจากทั้งโจทก์-จำเลย มีการทรมานจำเลยตามจารีตนครบาล เช่น บีบขมับ ตอกเล็บ จำขื่อคา เฆี่ยน เอากระลาตบปากให้พูด ฯลฯ นอกจากนั้นยังใช้วิธีการพิสูจน์ความจริงด้วยวิธีการโหดร้าย เช่น การให้ล้วงตะกั่วกำลังเดือด สาบาน ลุยไฟ ดำน้ำ ว่ายน้ำข้ามฟาก การเฆี่ยน ฯลฯ ซึ่งคล้ายกับวิธีการทรมานในศาลของศาลระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนของยุโรปสมัยโบราณกฎจารีตนครบาลได้ยกเลิกไปเมื่อมีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อตอบสนองเงื่อนไขของต่างประเทศที่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศไทยว่าประเทศไทนจะต้องปรับปรุงกฎหมายระบบศาลและกระบวนการยุติธรรม ซึ้งล้าสมัยและใช้วิธีรุนแรงดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเสียก่อนจึงจะยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศไทยให้ในที่สุด ๒.๒ ระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไทย เมื่อประเทศไทยได้ปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยแบ่งออกเป็น ๒ ระยะคือ ๒.๒.๑ ระยะเริ่มแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในระยะแรกก็ได้จัดส่งนักเรียนไทยไปศึกษากฎหมายที่ประเทศอังกฤษหลายคน เพราะอังกฤษเป็นประเทศที่มีการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเช่นเดียวกับประเทศไทยและเป็นประเทศที่กำลังล่าอาณานิคมในเอเชีย การส่งนักเรียนไทยไปศึกษาที่อังกฤษถือว่าเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีกับอังกฤษไปในตัวด้วย นับเป็นการดำเนินการทางการทูตและนำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ชาญฉลาดยิ่งขององค์พระประมุขของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยได้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในขณะนั้นมาได้ อันเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง การที่นักเรียนไทยไปศึกษากฎหมายที่อังกฤษ ย่อมได้รับแนวความคิดของหลักกฎหมายตอมมอนลอร์และระบบกล่าวหาของอังกฤษมาเต็มรูป ดังนั้น เมื่อปรับปรุงกฎหมายและระบบการดำเนินคดีในประเทศไทย ก็ได้นำแนวความคิดของอังกฤษมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยในระยะเริ่มแรก เช่น กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของประเทศไทย ก็แปลมาจากประมวลกฎหมายอาญาของอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษในขณะนั้น พระราชบัญญัติลักษณะพยาน ร.ศ.๑๑๓ ก็เป็นกฎหมายลักษณะพยานของอังกฤษ ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความมีโทษใช้ไปพลางก่อน ร.ศ.๑๑๕ ก็เป็นการนำระบบกล่าวหาของอังกฤษมาใช้เต็มรูป นอกจากนั้น ระบบศาลที่ได้ปรับปรุงเมื่อมีการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมแล้ว พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ.๑๒๗ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ ก็เป็นหลักการของอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ระบบกฎหมายคอมมอนลอร์และการดำเนินดคีระบบกล่าวหาของอังกฤษจึงได้เข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยมาตั้งแต่ต้น และได้ฝังรากลึกในระบบอังกฤษและกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเวลานาน แม้ต่อมาจะได้มีการยกร่างประมวลกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามแบบอย่างของประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil law) แต่อิทธิพลกฎหมายของอังกฤษก็ยังปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ด้วย ๒.๒.๒ ระยะที่สอง การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ติดตามมาก็คือ การจัดยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยประเทศไทยได้จ้างนักกฎหมายต่างประเทศมาดำเนินการให้ ซึ่งมีทั้งนักกฎหมายจากกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบคอมมอนลอว์และระบบกล่าวหา และกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายและระบบไต่สวน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งประเทศอังกฤษซึ่งใช้ระบบคอมมอนลอว์ และประเทศฝรั่งเศสซึ่งใช้ระบบประมวลกฎหมายเนื่องจากทั้งสองประเทศกำลังใช้อิทธิพลทุกประการที่จะเอาประเทศไทยเป็นอาณานิคมของตนให้ได้ จากการประนีประนอมของประเทศไทย เพื่อให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของทั้งสองประเทศที่มีระบบกฎหมายแตกต่างกันเป็นอย่างยิ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไทยจึงได้ผสมผสานกันทั้งระบบกล่าวหาของอังกฤษที่ฝังรากลึกในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ก่อนแล้วให้เข้ากับระบบไต่สวนของฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาโครงสร้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายลักษณะพยาน และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของประเทศไทยโดยละเอียดแล้วจะเห็นว่ามีแนวโน้มใช้ระบบกล่าวหาเป็นหลัก เช่น การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย คู่ความมีหน้าที่แสวงหาหลักฐานมาแสดงต่อหน้าศาลด้วยตนเอง ศาลจะไม่ทำหน้าที่แสวงหาพยานหลักฐานแต่จะวางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด คอยควบคุมการดำเนินคดีให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเข้มงวด หากฝ่ายใดกระทำผิดกฎเกณฑ์ของกฎหมายอาจถือเป็นสาเหตุพิพากษาให้แพ้คดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายลักษณะพยานไทยและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอาจกล่าวได้ว่ามีที่มาจากกฎหมายอังกฤษโดยแท้ ระบบกล่าวหาในคดีอาญาของอังกฤษที่ปรากฏอยู่ในระบบกฎหมายไทยนั้น ได้แฝงอยู่แต่ไม่มากเท่าระบบกล่าวหา ดังจะพิจารณาต่อไปนี้ ๑. ขั้นสอบสวน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒ (๑๑) บัญญัติว่า “การสอบสวน” หมายถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ” และมาตรา ๑๓๑ บัญญัติถึงหน้าที่ของพนักงานสอบสวนว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อประโยชน์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด” จากบทบัญญัติดังกล่าวนั้น แสดงว่าการสอบสวนจะต้องดำเนินไปโดยพนักงานสอบสวนต้องวางตัวเป็นกลาง รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดทั้งที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้ต้องหา แต่ในทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนจำนวนไม่น้อยมักจะทำการสอบสวนรวบรวมพยาน หลักฐานเน้นหนักในทางที่เป็นโทษแก่ผู้ต้องหา ส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้ต้องหาจะงดเว้นหรือไม่ยอมรวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน เนื่องจากระเบียบปฏิบัติของทางราชการกำหนดไว้เช่นนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งพนักงานสอบสวนได้ตั้งตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้ต้องหานั่นเอง เรื่องนี้จะเห็นได้จากข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดมีความว่า “ตามปกติผู้สอบสวนไม่จำเป็นจะต้องสอบสวนพยานของผู้ต้องหา เพราะตามธรรมดาพนักงานสอบสวนมีหน้าที่จะพิจารณาคดีว่าพอมีมูลดำเนินการฟ้องหรือไม่เป็นหลัก หาใช้เป็นผู้วินิจฉัยคดีของคู่ความไม่ แต่หลักเช่นกล่าวนี้บางทีอาจเกิดความจำเป็นหรือด้อยลักษณะแห่งการสอบสวนที่ดีบางคดีก็อาจจำเป็นที่ผู้สอบสวนต้องรีบชิงไหวพริบ สอบสวนตัดเพื่อพิสูจน์พยานผู้ต้องหาเสียแต่ในชั้นต้นหรือป้องกันมิให้ผู้ต้องหามีโอกาสซักซ้อมพยานทำให้เสียความเที่ยงธรรมในคดีที่อาจจะสอบสวนพยานผู้ต้องหาในบางคดีเพื่อให้เกิดผลแก่คดีนั้น ๆ ก็ได้” ดังนั้น ถ้าหากเรายอมรับในหลักการวางตัวเป็นกลาง และหน้าที่ค้นหาข้อเท็จจริงของพนักงานสอบสวนแล้ว การสอบสวนที่เน้นหนักในทางรวบรวมพยานหลักฐานเฉพาะที่เป็นโทษแก่ผู้ต้องหาตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีข้อ ๑๕๔ ดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ระเบียบที่ออกมาเช่นนี้จะเป็นเพราะความฝังใจว่ากระบวนวิธีพิจารณาความอาญาในประเทศไทยเป็นระบบกล่าวหานั่นเอง อย่างไรก็ดี ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้วินิจฉัยว่าการสอบสวนเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการที่จะพิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องโทษ จึงไม่จำกัดว่าการสอบสวนและกระทำได้เฉพาะพยานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อนึ่ง ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้มีการแก้ไขข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๒๓ ให้สิทธิผู้ต้องหายยื่นคำร้องขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานฝ่ายผู้ต้องหาได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นและให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนให้ตามคำขอ ๒. ชั้นอัยการ การดำเนินชั้นอัยการนั้นก็มีปัญหาติดตามมาเช่นเดียวกันว่า อัยการควรจะกำหนดบทบาทตนเองในฐานะเป็น “โจทก์” ประการใด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติเกี่ยวกับฐานะการเป็นโจทก์โดยอัยการและการเป็นโจทก์โดยเอกชนไว้ไม่แตกต่าง ดังจะเห็นได้ตั้งแต่มาตรา ๑๕๘ ภาค ๓ ซึ่งกล่าวถึงวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้นเป็นต้นไปจนถึงชั้นอุทธรณ์และฎีกาเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายประสงค์ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการโดยเฉพาะ หรือมีข้อยกเว้นไว้โดยเฉพาะจึงจะเป็นไปตามนั้น เช่น กรณีอัยการยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายตามมาตรา ๓๑ อัยการขอให้ศาลสั่งผู้เสียหายกระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ ที่จะทำให้คดีของอัยการเสียหาย (มาตรา ๓๒ ) หรือคดีที่อัยการเป็นโจทก์ศาลจะไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ก็ได้ (มาตรา ๑๖๒) เป็นต้น ฯลฯ อนึ่ง ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบ ข้อบังคับใดกำหนดให้อัยการต้องวางตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจำเลย แต่ในทางปฏิบัติการดำเนินคดีในศาลของอัยการในฐานะโจทก์ ความสัมพันธ์ระหว่างศาล-อัยการจำเลยได้เป็นอย่างเข้มงวด กล่าวคือเป็นการต่อสู้กันทางกฎหมายโดยมีศาลเป็นคนกลาง การดำเนินคดีโดยวิธีดังกล่าวนี้มีส่วนผลักดันให้อัยการต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดในการดำเนินคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบ มิให้เพลี่ยงพล้ำเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง ดังนั้น ในทางปฏิบัติการฟ้องคดีหรือการว่าความของอัยการที่ดำเนินสืบต่อเนื่องกันมาช้านานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรอัยการในประเทศไทย ก็มักจะกล่าวถึงเฉพาะสิ่งที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดปล่อยให้การแสดงสิ่งที่เป็นคุณแก่จำเลยเป็นหน้าที่ของจำเลย โดยการพิสูจน์ตนเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เช่นเดียวกับการปฏิบัติของพนักงานสอบสวนดังกล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เพราะการกำหนดตนเองว่าเป็นโจทก์ผู้ฟ้องร้องกล่าวหาในคดีนั้นเอง (ในอดีตอัยการเคยเรียกตนเองในคำฟ้องว่า “ฉัน”) การที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไม่ว่าด้วยเหตุผลประการใด ๆ โดยตำหนิอัยการโจทก์อาจถือเป็นความบกพร่องของอัยการเป็นเหตุให้นำมาพิจารณาทางด้านวินัยข้าราชการฐานบกพร่องต่อหน้าที่ หรือนำมาประกอบการพิจารณาความดีความชอบประจำปี องค์กรอัยการเองก็ย้ำเตือนเสมอว่า การดำเนินคดีของอัยการนั้นได้วางตัวเป็นกลาง มิให้มุ่งมั่นเอาชนะคดีเพราะอัยการทำหน้าที่แทนรัฐในฐานะทนายแผ่นดิน แต่วิธีปฏิบัติในการดำเนินคดีในศาลที่เป็นไปอย่างเคร่งครัด รวมทั้งวิธีปฏิบัติของอัยการเองที่กระทำสืบเนื่องมาช้านาน ตั้งแต่เริ่มตั้งองค์กรอัยการมิได้เปิดช่องให้อัยการมีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ตัวอย่างเช่น การวางตัวเป็นกลางในการดำเนินคดีของอัยการนั้น จะหมายถึงเฉพาะการดำเนินคดีได้ตามครรลองของกฎหมายโดยมิให้ใช้วิธีเอาเปรียบจำเลย หรือมุ่งชนะคดีไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมเท่านั้น หรือจะหมายความรวมถึงว่าอัยการควรจะแสดงถึงสิ่งเป็นคุณแก่จำเลยด้วย หากจำเลยมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับผลดีจากสิ่งนั้น การดำเนินคดีอาญาของประเทศอังกฤษนั้น โจทก์มีหน้าที่ช่วยเหลือให้ลูกขุนทราบถึงความจริงในคดี ต้องไม่พยายามปกปิดหลักฐานใดซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลย ไม่มีหน้าที่จะต้องพยายามเอาชนะไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม เป็นแต่เพียงแสดงข้อเท็จจริงทั้งหมดในคดีให้ปรากฏแก่ลูกขุนอย่างชัดเจนเข้าใจได้ง่ายเท่านั้น อนึ่งปัจจุบันได้มีความคิดทางวิชาการกันว่า อัยการในประเทศไทยควรเปลี่ยนแปลงบทบาทของตนในฐานะเป็นโจทก์ฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยอย่างเคร่งครัดมาเป็นผู้คุ้มครองดูแลสิทธิของจำเลย ด้วยหรือไม่ เช่น (๑) การฟ้องคดีบางประเภทที่ขัดกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวน และขัดกับความเห็นในชั้นคำสั่งฟ้องของอัยการเอง เช่น ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนได้ความว่าผู้ต้องหาฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุหรือการกระทำโดยจำเป็นเกิดสมควรแก่เหตุหรือโดยบันดาลโทสะ ฯลฯ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาให้อยู่ในดุลพินิจของศาลจะลงโทษจำเลยน้อยเพียงใดก็ได้ ในทางปฏิบัติอัยการบางท่านกลับ ฟ้องผู้นั้นฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาจึงเป็นการฟ้องที่มีข้อหาหนักกว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนแล้วให้เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องต่อสู้ในศาลว่าตนกระทำเพื่อป้องกันตัวหรือจำเป็นหรือโดยบันดาลโทสะ จึงควรยกเลิกวิธีการฟ้องคดีอาญาในลักษณะดังกล่าวเสีย (๒) ในทางปฏิบัติหากอัยการจะแถลงข้อเท็จจริงอย่างอื่นในคำฟ้องหรือโดยวาจาก็มักจะไปในทางที่เป็นโทษแก่จำเลย เช่น สมัยหนึ่งรัฐบาลเคยขอความร่วมมือจากการกรมอัยการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับฝิ่นหรือยาเสพติด กรมอัยการให้ความร่วมมือโดยทำหนังสือเวียนแจ้งให้อัยการโจทก์มีคำขอในท้ายฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานหนักตามนโยบายของรัฐบาลด้วย ขณะเดียวกันหากอัยการจะแถลงข้อเท็จจริงที่เป็นคุณเกี่ยวกับจำเลย เช่น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพและสิ่งแวดล้อมของจำเลย อันจะช่วยประกอบดุลยพินิจของศาลในการพิจารณากำหนดโทษหรือมาตราการอื่นใดแก่จำเลยอย่างเหมาะสม อัยการควรแถลงให้ศาลทราบด้วยหรือไม่ รวมทั้งการให้คำแนะนำแก่จำเลยได้ทราบถึงสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายที่จำเลยควรได้รับ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยจำนวนมากเป็นคนยากไร้ไม่มีทุนทรัพย์ว่าจ้งทนายให้ช่วยเหลือในการต่อสู้คดี ต้องสู้คดีไปตามลำพังโดยไม่ทราบเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ของตนที่กฎหมายให้ไว้รวมทั้งวิธีการต่อสู่คดีในศาล ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ทำให้จำเลยที่ยากไร้ต้องเสียเปรียบอย่างมาก แต่ในทางปฏิบัติ นอกจากอัยการบางท่านจะไม่นิยมแนะนำหรือแสดงสิ่งที่เป็นคุณแก่จำเลยให้ศาลทราบแล้ว ในกรณีที่จำเลยแสดงสิ่งที่เป็นคุณดังกล่าว อัยการบางท่านก็ได้ใช้วิธีซักค้านพยานหลักฐานที่เป็นคุณแก่จำเลยเช่นว่านั้นด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาผลคดีของรัฐในฐานะเป็นโจทก์ตามระบบกล่าวหาอย่างเคร่งครัด ซึ่งควรจะมีการทบทวนบทบาทในเรื่องนี้ด้วย ปัจจุบัน สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการแก้ไขปรังปรุงวิธีการฟ้องคดีประเภทนี้เสียใหม่ด้วยแล้ว จากหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นบทบาทใหม่ของอัยการในดำเนินคดีอาญาที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ทั้งของผู้เสียหาย ผู้ต้องหาหรือจำเลยและสังคมไปพร้อมกันกล่าวคือ ต่อไปนี้อัยการจะไม่ทำหน้าที่เป็นคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ฟ้องคดีเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต แต่อัยการจะเสนอข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำนวนการสอบสวนในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยให้ศาลทราบด้วย เช่น เหตุบรรเทาโทษต่าง ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย เพื่อประกอบดุลพินิจของศาลในการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยในสถานเบาลงโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นคุณแก่จำเลยตามที่อัยการได้เสนอต่อศาลประกอบด้วย ผลดีอย่างสูงที่เกิดขึ้นกับสาธารณชนก็คือ ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ควรได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองจากรัฐด้วยเช่นกัน ก็จะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพโดยอัยการซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐดียิ่งขึ้นและเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใด ๆ ทั้งสิ้น สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๔๐ มาตรา ๗๕ ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล…” ทุกประการ ๓. ชั้นศาล กระบวนวิธีพิจารณาในศาลก็เป็นอีกขึ้นตอนหนึ่งที่นำระบบกล่าวหามาใช้เคร่งครัด กล่าวคือศาลจะวางตัวเป็นกลางคล้ายกับกรรมการในการแข่งกีฬา ปล่อยให้คู่ความทั้งสองฝ่าย คือ โจทก์-จำเลยต่อสู้กันในทางกฎหมายฝ่ายใดปฏิบัติผิดกติกาที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามกฎหมายลักษณะพยานศาลย่อมถือเป็นข้อแพ้ชนะกันในทางคดี วิธีการให้ศาลวางตัวเป็นกลางนี้ได้ผลดีที่ทำให้ศาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการไต่สวนพยานด้วยตนเองโดยตรงเหมือนผู้พิพากษาในระบบไต่สวนดังเช่น ในประเทศฝรั่งเศษป้องกันมิให้เกิดการเอนเอียงที่จะกระทำการให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย และทำให้ศาลได้รับความเคารพเชื่อถือจากประชาชนมากพอสมควร แต่อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้ห้ามศาลทำการไต่สวนพยานแต่อย่างไร ในทางตรงกันข้ามมีบทบัญญัติบางมาตรากำหนดให้ศาลค้นหาความจริงจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาคดี ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง มาตรา ๑๗๑ บัญญัติว่า “ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนและการพิจารณาเว้นแต่มาตรา ๑๗๕ มาบังคับแก่การไต่สวนมูลฟ้องโดยอนุโลม” ดังนั้น ศาลซึ่งทำหน้าที่ไต่สวนมูลฟ้องจึงทำหน้าที่เหมือนพนักงานสอบสวนคือรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองเพื่อประกอบการพิจารณาว่าคดีของโจทก์มีมูลหรือไม่ ไม่ได้ทำหน้าที่รับฟังพยานหลักฐานจากโจทก์หรือจำเลยเท่านั้น เช่นคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๒๑/๒๕๐๖ ซึ่งพิพากษาว่าในการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแม้เมื่อโจทก์แถลงว่าหมดพยานแล้ว ศาลก็มีอำนาจสั่งเรียกพยานหลักฐานมาเองเพื่อประกอบการวินิจฉัยทำคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ ในการไต่สวนคดีวิสามัญฆาตกรรม มาตรา ๑๕๐ วรรค ๖ บัญญัติว่า “เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานอื่นมาสืบได้” ในชั้นพิจารณาคดี กฎหมายก็ให้อำนาจศาลไต่สวนพยานได้เท่าที่สมควรเพื่อค้นหาความจริงในคดีโดยมาตรา ๒๓๕ บัญญัติว่า “ในระหว่างพิจารณาเมื่อเห็นสมควรศาลมีอำนาจถามโจทก์จำเลยหรือพยานคนใดก็ได้ ห้ามมิให้ถามจำเลยเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะจะเพิ่มเติมคดีโจทก์ซึ่งบกพร่องแว้นแต่จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยาน” แต่ในทางปฏิบัติศาลมักไม่ใช้อำนาจดังกล่าว แต่ใช้วิธีวางตนเป็นกลางโดยเคร่งครัดรับฟังเฉพาะพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำมาแสดง ทั้งทีประเทศไทยไม่ใช้ระบบลูกขุนวินิจฉัยข้อเท็จจริงเหมือนอังกฤษหรือหลายประเทศ แต่ศาลไทยทำหน้าที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทั้งสองอย่าง การที่วางตัวเป็นกลาง โดยเคร่งครัดดังกล่าว เข้าใจว่าจะยึดถือตามแนวปฏิบัติของระบบกล่าวหาซึ่งเป็นที่มาในระบบศาลไทยมาช้านาน การวางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัดนี้แม้จะทำให้น่าเชื่อถือว่าศาลมิได้เอนเอียงแต่ผลเสียที่เกิดตามมาก็คือ ข้อเท็จจริงที่ศาลได้รับมาจากการพิจารณาคดี อาจจะเป็นเพียงผลของความสามารถความเก่งกาจของทนายโจทก์หรือทนายจำเลยในเชิงคดีเท่านั้น แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ ก็ได้ อาจทำให้ความเป็นธรรมตามกฎหมายและความเป็นธรรมตามความเป็นจริงสวนทางกัน และทำให้การป้องกันปราบปรามไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ การวางตัวเป็นกลางคอยควบคุมโจทก์-จำเลยปฏิบัติตามกติกาต่อสู่คดีโดยเข้มงวดจนเกินไป ก็มีปัญหาบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ดุลยพินิจยกฟ้องคดีโจทก์ที่เกิดผิดพลาดทาง “เทคนิค” ในการเขียนฟ้อง เช่น การพิมพ์วันเวลาที่เกิดเหตุคลาดเคลื่อน พิมพ์ชื่อจำเลยผิดหรือโจทก์ลืมลงชื่อในการฟ้อง เป็นต้น ฯลฯ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๘/๒๕๑๑ พิพากษาว่าฟ้องซึ่งโจทก์มิได้ลงชื่อนั้น เป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๗) เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีแล้วคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกฟ้อง เรื่องนี้เป็นคดีระหว่างผู้ว่าคดีศาลแขวงนครสวรรค์ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑-๒ ฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ยื่นฎีกาโดยมิได้กล่าวถึงเรื่องฟ้องของโจทก์ที่บกพร่องไม่ได้ลงชื่อ แต่ศาลฎีกาตรวจพบจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยยังมิได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลย แต่ต่อมาในบางคดี ศาลก็ได้ลดหย่อนความเข้มงวดในการยกฟ้องเนื่องจากข้อผิดพลาดด้านเทคนิคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิมพ์ฟ้อง เช่น การไม่ระบุวันเวลาสถานที่เกิดเหตุ จำเลยไม่หลงต่อสู้และไม่เกิดข้อเสียเปรียบแก่จำเลย ก็ถือว่าไม่ใช่เหตุที่จะยกฟ้อง เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๘๘/๒๔๙๕ พิพากษาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยฐานยื่นคำร้องเท็จต่อศาลอาญาขอให้ลงโทษ โดยไม่ระบุว่าศาลอาญาอยู่ในตำบลใด จังหวัดใด ถือว่าเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ให้จำเลยเข้าใจได้ดี เพราะศาลอาญานั้นมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓๘/๒๕๑๔ ฟ้องระบุสถานที่ชัดเจนแต่ไม่ระบุตำบล อำเภอ จังหวัด ลงในฟ้อง ฟ้องนั้นก็ยังเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ เป็นต้น ฯลฯ ดังนั้น จึงขอฝากเป็นข้อคิดด้วยว่า การดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาความอาญา ให้มีประสิทธิภาพนั้น เราควรใช้วิธีการตามระบบไต่สวนหรือวิธีการตามระบบกล่าวหามากน้อยเพียงใด จึงจะเป็นการเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทางอาญาในประเทศไทยให้ก้าวหน้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
ที่มา : กุลพล พลวัน. “การพิจารณาคดีระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนในกฎหมายไทยที่มีผลกระทบต่อการ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน” ศาลรัฐธรรมนูญ. 5:13 (มกราคม – เมษายน 2546) 34-50.

ความแตกต่างระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับ ศาลยุติธรรมและศาลปกครองของไทย


บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความแตกต่างระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับ ศาลยุติธรรมและศาลปกครองของไทย และความแตกต่างระหว่างศาลรัฐธรรมนูญไทยกับศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น ๓ หัวข้อ ดังนี้ ๑. ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ ๒. ศาลรัฐธรรมนูญต่างจากศาลยุติธรรมและศาลปกครองอย่างไร ๓. ศาลรัฐธรรมนูญไทยต่างจากศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศอย่างไร ๑. ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ การก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญ มาจากความจำเป็นอย่างน้อย ๒ ประการ คือ (๑) ความจำเป็นในการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยทั่วไปแล้วประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญเป็น ลายลักษณ์อักษรหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะต้องประกอบด้วยหลักการสำคัญ ๒ ประการ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญได้กำหนดรูปแบบการปกครองของรัฐและวางระเบียบการดำเนินการปกครองโดยกำหนดให้มีสถาบันทางการเมืองหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งระบุอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างสถาบันทางการเมืองหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น ประการหนึ่ง และการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน โดยมีการกำหนดหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไว้ เพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจปกครองอันเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกประการหนึ่ง (๒) ความจำเป็นในการปกครองโดยนิติรัฐ การใช้อำนาจของรัฐในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องเป็นไปตามกฎหมายอีกทั้งยังต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการปกครองโดยนิติรัฐ (Legal State หรือ Rule of law) ซึ่งแยกได้ ๓ ประการ คือ ประการแรก คือ หลักความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดมิได้ ประการที่สอง คือ หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายปกครองจะมีอำนาจสั่งให้ประชาชนกระทำการหรือละเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้และใช้อำนาจอยู่ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ประการที่สาม คือ หลักการควบคุมความชอบโดยองค์กรตุลาการ เพื่อเป็นการควบคุมมิให้การกระทำขององค์กรของรัฐกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีองค์กรตุลาการที่มีอำนาจและมีความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงต้องมีสถาบันหรือองค์กรที่ ทำหน้าที่ในการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและควบคุมมิให้องค์กรของรัฐกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถาบันหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน โดยสรุปแล้วมี ๓ รูปแบบ คือ (๑) รูปแบบที่ให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ควบคุมในรูปของศาลสูงสุด ซึ่งรูปแบบนี้ใช้อยู่ใน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย โบลิเวีย เม็กซิโก คิวบา ไนจีเรีย คูเวต และญี่ปุ่น เป็นต้น 1 (๒) รูปแบบที่ให้องค์กรทางการเมืองเป็นผู้ควบคุมในรูปของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งรูปแบบนี้ใช้อยู่ในประเทศฝรั่งเศส เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น (๓) รูปแบบที่ให้ศาลที่มีอำนาจเฉพาะเป็นผู้ควบคุมในรูปของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรูปแบบนี้ใช้อยู่ในเยอรมัน อิตาลี สเปน เบลเยี่ยม โปรตุเกส เกาหลีใต้ และไทย เป็นต้น กรณีประเทศไทยนั้น นับแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญหลังการเปลี่ยนแปลง การปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ได้มีการจัดตั้งองค์กรทั้งในรูปของศาลสูงสุด(ศาลฎีกา) และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีรัฐธรรมนูญเรื่อยมาจนกระทั่งได้มีการจัดตั้ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ๒. ศาลรัฐธรรมนูญต่างจากศาลยุติธรรมและศาลปกครองอย่างไร เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระบบศาลของไทยในปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญต่างจากศาลอื่นในสาระสำคัญ ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น ๑๑ ประเด็นหลัก ดังนี้ (๑) ประเด็นเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของศาล ศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงศาลเดียว ขณะที่ศาลปกครองและศาลยุติธรรมมีระดับชั้นของศาล กล่าวคือศาลปกครองแบ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด โดยจะมีศาลปกครอง ชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ได้ 2 ส่วนศาลยุติธรรมแบ่งออกเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา และศาลทหารก็มีสามชั้นเช่นกัน 3 ศาลรัฐธรรมนูญมีศาลเดียว ไม่มีการจัดตั้งศาลแยกตามความชำนัญพิเศษ ส่วนศาลปกครองแม้ว่าจะไม่มีการจัดตั้งศาลตามความชำนัญพิเศษ แต่อาจมีการจัดตั้งองค์คณะที่มีความเชี่ยวชาญ ในประเภทคดีด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะได้ ในขณะที่ศาลยุติธรรมมีการจัดตั้งศาลตามความชำนัญพิเศษ เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย เป็นต้น (๒) ประเด็นเกี่ยวกับจำนวนและที่มาของตุลาการหรือผู้พิพากษา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน ๑๕ คน มีที่มาแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ (๑) มาจาก ผู้พิพากษาศาลฎีกา ๕ คน โดยการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา (๒) มาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด ๒ คน โดยการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด และ (๓) มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ๕ คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ๓ คน โดยการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาฯ และได้รับ การเลือกจากวุฒิสภา ตุลาการศาลปกครองมีจำนวนตามที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) กำหนดโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สำหรับที่มานั้น ตุลาการศาลปกครองได้รับการคัดเลือกโดย ก.ศป. (สำหรับตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเมื่อได้รับการคัดเลือกโดย ก.ศป. แล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วย) โดยคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือในการบริหารราชการแผ่นดิน และต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานวิชาชีพทางกฎหมาย หรือประสบการณ์ในตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ตามที่กฎหมายและ ก.ศป. กำหนด ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมมีจำนวนตามที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดตามความจำเป็นของราชการ ผู้พิพากษามาจากการสอบเข้ารับราชการ โดยต้องสำเร็จการศึกษาทางกฎหมาย และสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต และต้องมีประสบการณ์ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ตามที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมกำหนด (๓) ประเด็นเกี่ยวกับวาระและอายุของตุลาการหรือผู้พิพากษา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระ ๙ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวและต้องมีอายุไม่เกิน ๗๐ ปีบริบูรณ์ สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๕ ปีบริบูรณ์ ตุลาการศาลปกครองไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง (อยู่ในตำแหน่งจนอายุ ๖๐ ปี หรือ ๗๐ ปี ถ้าผ่านการประเมิน) โดยตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๕ ปี และตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง (อยู่ในตำแหน่งจนอายุ ๖๐ ปี หรือ ๗๐ ปี ถ้าผ่านการประเมิน) โดยมีอายุขั้นต่ำของการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา คือ ๒๕ ปีบริบูรณ์ (๔) ประเด็นเกี่ยวกับคดีที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยหรือพิพากษา ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย “คดีรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเกี่ยวกับการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย หรือกฎหมาย หรือพระราชกำหนด วินิจฉัยสมาชิกภาพของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการให้พ้นจากตำแหน่งกรณีจงใจไม่ยื่นหรือยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ การดำเนินงานของพรรคการเมือง เป็นต้น ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา “คดีปกครอง” ซึ่งเป็นกรณีพิพาทที่หน่วยงานของรัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร คดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดของหน่วยงานของรัฐ คดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษา “คดีทั่วไป” คือ คดีแพ่ง คดีอาญา และคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น (๕) ประเด็นเกี่ยวกับผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี องค์กรตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ศาล ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา อัยการสูงสุด 4 เป็นต้น ไม่ได้กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง คือ ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานของรัฐ และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา 5 ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมในคดีแพ่ง คือ ประชาชนที่มีกรณีการโต้แย้งสิทธิ และกรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลรับรองหรือบังคับตามสิทธิของตน และผู้มีสิทธิฟ้องคดีอาญา คือ ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่ง และพนักงานอัยการ (๖) ประเด็นเกี่ยวกับระบบการแสวงหาข้อเท็จจริง ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองใช้ระบบการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เรียกว่า “ระบบไต่สวน” (Inquisitorial System) ในขณะที่ศาลยุติธรรมใช้ระบบการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เรียกว่า “ระบบกล่าวหา” (Accusatorial System)(6) (แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใช้ระบบไต่สวน) (๗) ประเด็นเกี่ยวกับองค์คณะในการพิจารณาวินิจฉัยหรือพิพากษาคดี องค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า ๙ คน องค์คณะของศาลปกครองสูงสุดต้องมีตุลาการอย่างน้อย ๕ คน และองค์คณะของศาลปกครองชั้นต้นต้องมีตุลาการอย่างน้อย ๓ คน องค์คณะของศาลยุติธรรมชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย ๒ คน และองค์คณะของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย ๓ คน ส่วนองค์คณะของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมี ๙ คน (๘) ประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาล ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดวิธีพิจารณาคดีได้เอง 7 สำหรับวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมและศาลปกครองต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้น (๙) ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในการคัดค้านคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาคดี คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด คู่กรณี(ผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง) ไม่มีสิทธิคัดค้าน และไม่มีการอุทธรณ์และฎีกา คู่กรณี(ผู้ฟ้อง-ผู้ถูกฟ้อง) มีสิทธิคัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น แต่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่สุด คู่ความ(โจทก์-จำเลย) มีสิทธิคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ แต่คำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นที่สุด (๑๐) ประเด็นเกี่ยวกับสภาพบังคับของคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา สภาพบังคับของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับลักษณะของคดี เช่น วินิจฉัยให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดใช้บังคับไม่ได้ ให้พ้นจากตำแหน่งและห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา ๕ ปี ให้ยุบพรรคการเมือง เป็นต้น สภาพบังคับของคำพิพากษาของศาลปกครองเป็นไปตามมาตรา ๗๒ ของ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พุทธศักราช ๒๕๔๒ เช่น ให้เพิกถอนกฎ คำสั่ง ให้ปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลกำหนด ให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน เป็นต้น สภาพบังคับของคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในคดีอาญา คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน และสภาพบังคับในคดีแพ่ง เช่น การบังคับให้ชำระหนี้ เป็นต้น (๑๑) ประเด็นเกี่ยวกับผลผูกพันของคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ในขณะที่คำพิพากษาของศาลปกครองผูกพันเฉพาะคู่กรณี ยกเว้นกรณีการเพิกถอนกฎ และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมผูกพันเฉพาะคู่ความเท่านั้น ๓. ศาลรัฐธรรมนูญไทยต่างจากศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญไทยต่างกับศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศในสาระสำคัญ สามารถสรุปได้เป็น ๖ ประเด็นหลัก ดังนี้ (๑) ประเด็นเกี่ยวกับจำนวนและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีตุลาการจำนวน ๑๕ คน ถือว่าเป็นคณะตุลาการที่มีจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับคณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ และมีความหลากหลายเกี่ยวกับที่มา หรือคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมากกว่าศาลรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ กล่าวคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทย แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และสาขารัฐศาสตร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือการบริหารราชการแผ่นดิน 8 ในขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศจะแต่งตั้งจากผู้พิพากษา หรือผู้มีวิชาชีพทางกฎหมายเท่านั้น เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันแบ่งตุลาการเป็น ๒ องค์คณะ ๆ ละ ๘ คน ที่แยกเด็ดขาดออกจากกัน ตุลาการในแต่ละองค์คณะได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (Bundestag) ๔ คน และได้รับเลือกจากสภาสูงแห่งสหพันธ์ (Bundesrat) ๔ คน โดยสภาทั้งสองต้องเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากผู้พิพากษาศาลสูงสุดแห่งสหพันธ์ องค์คณะละ ๓ คน ส่วนที่เหลือให้เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิโดยต้องเป็นเนติบัณฑิต หรือเป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญของออสเตรีย มีตุลาการจำนวน ๑๔ คน มีตุลาการสำรอง ๖ คน รวมทั้งสิ้น ๒๐ คน โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งจากที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ๑๑ คน สภาผู้แทนราษฎร แห่งสหพันธ์เสนอ ๕ คน และสภาที่ปรึกษาแห่งสหพันธ์เสนอ ๔ คน ตุลาการทุกคนต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาทางกฎหมายและมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย ๑๐ ปี คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส โดยประธานาธิบดีแต่งตั้ง ๓ คน ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้ง ๓ คน และประธานวุฒิสภาแต่งตั้ง ๓ คน (อดีตประธานาธิบดีทุกคนเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่งตลอดชีวิต )และไม่มีการกำหนดคุณสมบัติของตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามที่ได้กล่าวถึงที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า มาจากการเสนอและแต่งตั้งโดยสถาบันทางการเมือง เช่น รัฐสภา หรือประธานาธิบดี ซึ่งสถาบันดังกล่าวมาจาก การเลือกตั้งของประชาชน ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทยนั้น เฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์เท่านั้นที่มีจากการเลือกของวุฒิสภาซึ่งเป็นสถาบันทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่มาจากการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา 9 (๒) ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไทย สามารถแบ่งเป็นหลักๆ ได้ ๗ ประการ คือ ประการที่หนึ่ง การควบคุมร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้บังคับ และ กฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ประการที่สอง การควบคุมเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดของฝ่ายบริหาร ประการที่สาม การวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี หรือกรรมการการเลือกตั้งสิ้นสุดลง หรือต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ประการที่สี่ การวินิจฉัยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ต้องพ้นจากตำแหน่งและต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประการที่ห้า การวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ประการที่หก อำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด มี ๖ กรณี กล่าวคือ (๑) การวินิจฉัยมติหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองว่า ขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ (๒) การวินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (๓) การวินิจฉัยอุทธรณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีที่พรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นสังกัดอยู่ มีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ (๔) การวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายที่เสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณามีหลักการเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งไว้ หรือไม่ (๕) การวินิจฉัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ กระทำการเพื่อให้ตนมีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายร่ายหรือไม่ และ (๖) การควบคุมร่างข้อบังคับการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ประการที่เจ็ด อำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มี ๓ กรณี กล่าวคือ (๑) การวินิจฉัยชี้ขาดคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทะเบียนพรรคการเมือง (๒) การสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย หรือออกจากตำแหน่ง และ (๓) การสั่งให้ยุบพรรคการเมืองตามคำร้องขอของนายทะเบียนพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ การเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน โปรตุเกส คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส จะมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงออกจากตำแหน่ง ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้ไต่สวนแล้วเสนอให้วุฒิสภามีมติถอดถอนจากตำแหน่ง แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน ออสเตรีย โปรตุเกส คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส จะมีอำนาจหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงออกจากตำแหน่งได้ (๓) ประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ไม่ได้กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ประชาชนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้อมได้ใน ๒ กรณี กล่าวคือ กรณีแรกโดยผ่านช่องทางศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง เมื่อประชาชนเป็นคู่ความในคดี และได้โต้แย้งว่ากฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับในคดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยศาลจะส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กับกรณีที่สองโดยประชาชนไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่า กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงาน ของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน เบลเยี่ยม โปรตุเกส สเปน หากมีกรณีกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานแล้ว เมื่อประชาชนได้ใช้สิทธิทางศาลทั่วไปถึงที่สุดแล้ว ยังสามารถไปยื่นร้องทุกข์ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง (๔) ประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดให้มีองค์คณะย่อยเพื่อกลั่นกรองคดี ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้กำหนดให้มีองค์คณะย่อย แต่กรณีศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเยอมัน เป็นต้น ได้กำหนดให้มีองค์คณะย่อยขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระงานขององค์คณะในการพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งเป็นวิธีการกลั่นกรองคดีก่อนที่จะเข้าสู่องค์คณะอย่างหนึ่ง (๕) ประเด็นเกี่ยวกับการมอบหมายให้มีตุลาการผู้รับผิดชอบสำนวน ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่มีการมอบหมายให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งเป็นตุลาการผู้รับผิดชอบสำนวน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๗ วรรคสอง กำหนดว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำคำวินิจฉัยในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ" แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน ออสเตรีย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มีระบบการมอบหมายให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนใดคนหนึ่งเป็นตุลาการผู้รับผิดชอบสำนวน (๖) ประเด็นเกี่ยวกับลำดับชั้นทางกฎหมายของวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๙ วรรคแรก กำหนดว่า “วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งต้องกระทำโดยมติเอกฉันท์ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา” จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไทยสามารถกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้เอง แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน ออสเตรีย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส วิธีพิจารณาคดีจะเป็นไปตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ตราขึ้น มีข้อสังเกตว่า ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของต่างประเทศมีความเชื่อมโยงกับสถาบันทางการเมืองซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือกรณีรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาได้กำหนดที่มาของผู้พิพากษาในศาลสูงสุด (The Supreme Court) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ตามคำแนะนำและยินยอมของวุฒิสภา ดังนั้น เมื่อพิจารณาที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของทุกประเทศแล้ว จะมีความเชื่อมโยงกับตัวแทนของประชาชนทั้งสิ้น กล่าวได้ว่า โดยทั่วไปแล้ว ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นปัญหาต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ความเป็นอิสระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญน่าจะขึ้นอยู่กับหลักประกันที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ เช่น การดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ยาวนาน หรือการกำหนดลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องผลประโยชน์ขัดกันและเพื่อความเป็นกลางทางการเมือง เป็นต้น. เชิงอรรถอ้างอิง (1) วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, ศาลรัฐธรรมนูญไทย : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, (กรุงเทพฯ : นิติธรรม, ๒๕๔๔) หน้า ๕๕ (2 ) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๗๖ กำหนดให้มีศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองชั้นต้น และจะมีศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ได้ ในขณะที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๗ กำหนดให้ศาลปกครองแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ ศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองชั้นต้น (3) พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พุทธศักราช ๒๔๙๘ มาตรา ๖ กำหนดให้มีศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง และศาลทหารสูงสุด (4) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๓ กำหนดให้อัยการสูงสุด มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งการให้บุคคลหรือพรรคการเมืองเลิกกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (5) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๓ กำหนดว่า “ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่ากฎหรือการกระทำใดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้มีสิทธิเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองได้ ......” (6) ในระบบกล่าวหานั้น คู่ความมีหน้าที่จะต้องเสนอข้อเท็จจริงแห่งคดีต่อศาล คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด คู่ความฝ่ายนั้น มีหน้าที่พิสูจน์ความมีอยู่ของข้อเท็จจริงนั้น และศาลก็จะต้องพอใจอยู่แต่เฉพาะกับข้อเท็จจริงที่คู่ความกล่าวอ้างและพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ แต่ในระบบไต่สวนนั้น ศาลเป็นผู้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยความร่วมมือของคู่ความ ศาลไม่ผูกพันกับข้อเท็จจริงที่คู่ความกล่าวอ้าง แต่อาจหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม (7) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๙ วรรคแรก กำหนดว่า “วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งต้องกระทำโดยมติเอกฉันท์ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา” (8) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พุทธศักราช ๒๕๔๒ มาตรา ๑๓(๓) (9) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๑ / ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๑ ว่า วุฒิสภาไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบแก่บุคคลที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิจารณาเลือกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และคำวินิจฉัยดังกล่าว มีผลผูกพันกับการเลือกตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเพื่อแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เอกสารอ้างอิง นันทวัฒน์ บรมานันท์ . ศาลรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ. รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๒. นันทวัฒน์ บรมานันท์. การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ. รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๖. วรเจตน์ ภาคีรัตน์. วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศกับศาลรัฐธรรมนูญไทย. รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๕. สมคิด เลิศไพฑูรย์. ตุลาการรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๓๖.
ศาลปครอง
ศาลปกครอง เป็นองค์กรหลายฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนเรียกร้องให้มีการจัดตั้งขึ้นมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งวันที่ 9 มีนาคม 2544ศาลปกครองได้เริ่มเปิดทำการเป็นที่พึ่งของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือ เจ้าหน้าที่รัฐที่มีคำสั่งโดยมิชอบ ด้วยสโลแกนว่า "ศาลปกครอง เพื่อความเป็นธรรมของสังคม" ปัจจุบันนี้ศาลปกครองเปิดทำการมาแล้ว 6 เดือน มีการขยายสาขาออกสู่ภูมิภาคแล้วหลายแห่ง พบว่ามีคดีเข้ามาสู่ศาล ปกครองรวมทั้งสิ้น 3,600 เรื่อง ในจำนวนนี้มีคดีที่ศาลปกครองรับโอนมาจากคณะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา 1,400 เรื่อง และ ประชาชนยื่นฟ้องเอง 2,200 เรื่อง ศาลปกครองได้มีคำตัดสินไปแล้วประมาณ 900 เรื่องในจำนวนนี้คดีที่ถูกศาลปกครองยกฟ้องมีมากถึง 700 กว่าคดี ขณะที่ประชาชนที่นำคดีมาฟ้องร้องมีความหวังว่า ที่พึ่งแห่งใหม่แห่งนี้จะช่วยเยียวยาความเดือนร้อน แต่สุดท้ายศาลปกครอง กลับมีคำสั่งยกฟ้อง ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะแม้แต่นักกฎหมายเองส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง โดยเฉพาะความหมายของ คำว่า " ศาลปกครอง "ด้วยนโยบายการเขียนคำฟ้องอย่างง่ายๆ ชาวบ้านเขียนด้วยลายมือก็ยังได้ และยังเปิดโอกาสส่งคำฟ้องทางไปรษณีย์ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ทำให้หลายฝ่ายเข้าใจว่าเมื่อฟ้องง่ายก็ไม่น่าจะมีปัญหายุ่งยากหรือหลักเกณฑ์มากมายนักแต่ความจริงกลับตรงข้ามเพราะศาลปกครองถือเป็นศาลที่มีหลักเกณฑ์ในการรับพิจารณาคดีที่คนทั่วไปยัง ไม่ทราบ เรียกว่าฟ้องง่าย แต่รับฟ้องยาก นายโภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด อธิบายเรื่องนี้ว่า เมื่อชาวบ้านมีปัญหาก็มาฟ้องที่ศาลปกครอง กันหมด เราก็ อยากรับ แต่เมื่อไม่ใช่คดีปกครองก็รับไม่ได้ เพราะการมาฟ้องคดีที่ศาลปกครองประการแรก ต้องมีขอพิพาทเกิดขึ้นแล้ว บางคนมาฟ้องโดยที่ยังไม่มีข้อพิพาท แต่เขาคาดว่าเจ้าหน้าทีรัฐจะมีคำสั่งที่จะทำให้เขาเสียหายจึงมาฟ้องให้ศาลมีคำสั่งห้ามเสียก่อน ซึ่งศาลสั่งไม่ได้เพราะข้อพิพาท ยังไม่เกิดนอกจากนี้ก่อนนำเรื่องมาฟ้องศาลปกครอง ต้องมีการหาทางเยียวยาด้วยตนเองเสียก่อน คือ ต้องอุทธรณ์คำสั่งไป ยังผู้บังคับบัญชาหรือ คณะกรรมการรับเรื่องอุทธรณ์ของแต่ละหน่วยงานเสียก่อน ให้มีคำสั่งชี้ขาดเสียก่อนหากยังไม่พอใจจึงนำมาฟ้องศาลปกครอง ให้เพิกถอนคำสั่งได้ประการที่สอง ต้องใช้ถ้อยคำที่สุภาพ บางรายใช้คำที่สุภาพ บางรายใช้คำหยาบคายไม่เหมาะสม ศาลก็จะไม่รับเพราะถือว่าศาลไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์ของใครประการที่สาม ในเรื่องอายุความ คดีปกครองในเรื่องคำสั่งทางปกครองต้องฟ้องภายในอายุความต้องฟ้องภายใน อายุความ 90 วัน นับแต่วันที่ทราบเหตุ และอายุความ 1 ปี สำหรับคดีสัญญาทางปกครองหากไม่เป็นไปตามนี้ ศาลปกครองไม่รับฟ้องด้านนายวรพจน์ วิศรุตพิชย์ อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ให้หลักเกณฑ์ของคดีที่ศาลปกครองสามารถรับฟ้องได้ว่า 1. ต้องเป็นคดีปกครอง หมายถึง เป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่า งหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง แต่ที่มีมาฟ้องกันจำนวนมากมักเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือประชาชนฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในการกระทำที่ เป็นส่วนตัว ไม่ใช่คำสั่งทางปกครองนอกจากนี้คดีปกกครองยังรวมถึงกรณีที่ประชาชนฟ้องรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายปกครองหมายถึงรัฐวิสาหกิจที่ก่อตั้งโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่ก่อตั้งโดยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในรูปบริษัทจำกัด เช่นธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น เหล่านี้ ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง2. คดีต้องมีมูลจากการกระทำสามประการดังนี้ ประการแรก เป็นการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง โดยหน่วยงาน รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ประการที่สอง เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ประการที่สาม ต้องเป็นสัญญาทางปกครอง เช่น สัญญาสัมปทานที่รัฐทำกับเอกชนให้จัดทำสาธารณูปโภคต่างๆ หรือการที่รัฐให้เอกชนแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติ เช่น สัญญา สัมปทานเหมืองแร่ แต่หากเป็นสัญญาที่รัฐทำกับเอกชนแต่เป็นสัญญาทางแพ่ง เช่น รัฐทำสัญญาจัดซื้อเครื่องใช้สำนักงานจากเอกชน กรณีอย่างนี้เป็นเรื่องทางแพ่งไม่ถือเป็นคดีปกครองแม้คู่สัญญาจะเป็นรัฐก็ตามหรือบางครั้งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจริงแต่เป็นการกระทำในทางส่วนตัว เช่นเจ้าหน้าที่รัฐไปกู้เงินแล้วไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มาฟ้องศาลปกครองไม่ได้เพราะเป็นการกระทำส่วนตัวไม่ใช่ทางปกครองที่สำคัญศาลปกครองจะไม่รับพิจารณาคดีที่เป็นอำนาจในการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมได้แก่ คดีที่ผู้ร้องนำคำพิพากษาของศาลยุติธรรมมาร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ศาลยุติธรรมรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ การฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม การฟ้องร้องคำสั่งคดีของพนักงานอัยการ การออก หมายของพนักงานสอบสวนเหล่านี้ศาลจะไม่รับพิจารณาเพราะถือว่าเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมและยังมีคดีปกครองอีกสามประเภทที่แม้เป็นคดีปกครองแต่กฎหมายปกครองห้ามไม่ให้ศาลปกครองรับพิจารณา คือ1. การฟ้องให้ดำเนินการเกี่ยวกับคำสั่งทางวินัยของทหาร2. การดำเนินการของคณะกรรมการศาลยุติธรรมหรือ ก.ค. ในการออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย ลงโทษวินัย3. กรณีที่กฎหมายให้อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษ เช่น ศาลเยาวชน และครอบครัวกลาง ศาลล้มละลาย ศาลภาษี อาการกลาง ศาลแรงงานโดยเฉพาะกรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกโยกย้ายตำแหน่ง หรือถูกลงโทษทางวินัย แม้เป็นคดีปกครองแต่เป็นอำนาจ ของศาลแรงงาน เพราะเป็นการฟ้องตามมูลสัญญาจ้างแรงงานสำหรับกรณีที่ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่พอใจคำสั่ง ของผู้บังคับบัญชาโดยเฉพาะคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนั้น มีหลักเกณฑ์ที่ยัง ต้องทำความเข้าใจกันคือ เมื่อมีการนำคดีมาฟ้องศาลปกครองแล้ว ตามกฎหมายปกครองผู้ที่ถูกฟ้องคือ ตำแหน่งไม่ใช่ตัวบุคคล ผู้ถูกฟ้องจึงหมายถึงตำแหน่งอาจเป็นนายกรัฐมนตรีอธิบดี ที่ถูกฟ้องไม่ใช่นาย ก. นาย ข. อย่างที่เข้าใจกัน ทั้งที่เวลาฟ้อง ส่วนมากผู้ฟ้องต้องการฟ้องตัว นาย ก. แต่กฎหมายปกครองคนพวกนี้มาแล้วไปแต่ตัวตำแหน่งเป็นสิ่งที่อยู่ยั่งยืน กฎหมายปกครองจึงถือว่าตำแหน่งเป็นผู้ที่ถูกฟ้อง ไม่ใช่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่อไปก็ต้องมาเป็นจำเลยแทนคนที่ แล้วโดยตำแหน่ง และหากต้องการฟ้องตัวบุคคลก็ต้องไปดำเนินคดีที่ศาลยุติธรรมในการยื่นฟ้องศาลปกครองคดีที่ศาลรับพิจารณานั้น ผู้ฟ้องต้องเป็นผู้ที่เสียหายจากการกระทำของหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐเพียงแค่เป็นพลเมืองดีแต่ไม่ได้รับความเสียหายจะมายื่นฟ้องไม่ได้ และการกระทำหรือคำสั่งนั้นต้องเกิดขึ้นแล้วหากรัฐเพียงประกาศว่าจะทำหรือเจ้าหน้าที่รัฐมีความเห็นทำเสนอต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ แต่ตราบใดที่ยังไม่มี คำสั่ง ก็ยังไม่อาจนำคดีมาฟ้องได้รวมถึงการที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบข้อหารือยังไม่เป็นการกระทำทางปกครอง เพราะเป็นเพียงการทำความ เห็นภายในหน่วยงานยังมีอีกหลายเรื่องที่ศาลปกครองมีคำสั่งยกฟ้อง หรือไม่รับพิจารณาเพราะ คำขอของผู้ฟ้องคดีไม่อยู่ในวิสัยที่ ศาลปกครอง จะมีคำสั่งเช่นนั้นได้ เช่น ฟ้องผู้บังคับบัญชามีคำสั่งโดยมิชอบ แต่ไม่ฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว กลับฟ้องให้ศาลมีคำสั่งลงโทษทางวินัย หรือปลด ออกจากตำแหน่ง ซึ่งศาลปกครองไม่มีอำนาจที่จะสั่งเช่นนั้น''หลายฝ่ายเข้าใจผิดว่าศาลปกครองชอบปัดไม่รับพิจารณาคดี เรารับรู้และเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน บางเรื่องเห็นรูปคดีก็รู้เลยว่ามีทางชนะ แต่ทำอย่างไรได้เมื่อไม่ใช่คดีปกครองที่ศาลจะรับไว้ได้ ก็ต้องยกฟ้องไป" นายวรพจน์กล่าวด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่คดีปกครอง ทำให้ประชาชนหลายร้อยรายผิดหวัง จนทำให้รู้สึกว่าแม้มีศาลปกครองแต่ความยุติธรรมก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาง่ายๆ ชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ ไม่รู้ว่าคดีปกครองคืออะไร ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้นี่เอง ที่มักถูกเจ้าหน้าที่รัฐเอารัดเอาเปรียบ และหากไม่ต้องการเป็นผู้ด้อยโอกาสที่จะได้รับความยุติธรรม คงต้องเร่งหาความรู้เกี่ยวกับความหมายของคำว่า "คดีปกครอง" อย่างชัดเจน และแจ่มแจ้งก่อนจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง พิจารณาแล้วหรือยังว่าเรื่องของท่านเป็นคดีปกครองหรือไม่?จากหนังสือพิมท์มติชน ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2544
ส่วนที่4 ศาลปกครองมาตรา 276 ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็น ข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานราชการ หน่าวยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้า หน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำ ที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วน ท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือเนื่อง จากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงาน ของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่ กฎหมายบัญญัติให้มีศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น และจะมีศาล ปกครองชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ได้:: ฏีกาที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา นี้ ฏีกาที่ 695-696/41มาตรา 277 การแต่งตั้งและการให้ตุลาการในศาลปกตรองพ้นจาก ตำแหน่งต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ตามที่กฎหมายบัญญัติก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูลผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิในการบริหารราชการ แผ่นดิน อาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุดได้ การแต่งตั้งให้บุคคลดังกล่าวเป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้ แต่งตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ทั้งหมด และต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการ ศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติและได้รับความเห็นชอบจาก วุฒิสภาก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูลการเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษตุลาการใน ศาลปกครองต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการ ศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 278 การแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองให้ดำรงตำแหน่ง ประธานศาลปกครองสูงสุดนั้นเมื่อได้รับความเห็นชอบของคณะ กรรมการตุลาการศาลปกครองและวุฒิสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป มาตรา 279 คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองประกอบด้วย บุคคลดังต่อไปนี้(1) ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ(2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเก้าคนซึ่งเป็นตุลาการในศาล ปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองด้วยกันเอง(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาสองคน และจากคณะรัฐมนตรีอีกหนึ่งคน คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และ วิธีการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติมาตรา 280 ศาลปกครองมีหน่วยธุรการของศาลปกครองที่เป็น อิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้น ตรงต่อประธานศาลปกครองสูงสุดการแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ต้องได้รับความ เห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมาย บัญญัติสำนักงานศาลปกครองมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบ ประมาณ และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ