กฎหมายมหาชน

Monday, August 07, 2006

การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการพัฒนางานศาลยุติธรรม

ด้วยท่านประธานศาลฎีกา ดำริให้จัดดำเนินการในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารศาลยุติธรรม เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพศาลยุติธรรมและบริการประชาชน” ในครั้งนี้ เป็นการเริ่มศักราชใหม่การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการพัฒนางานศาลยุติธรรม โดยที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้กำหนดแผนกลยุทธ์ศาลยุติธรรม ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2545 – 2549 (ทบทวนครั้งที่ 1 พ.ศ. 2546) กำหนดไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2555 ศาลยุติธรรมจะเป็นองค์กรอัจฉริยะ (Intelligence Organization) ที่เป็นเลิศในการอำนวยความยุติธรรมแก่สังคมและรักษาไว้ซึ่งความเป็นแบบอย่างด้านจริยธรรมและคุณธรรมของสังคม โดยกำหนดให้มีพันธกิจของศาลยุติธรรม 3 ประการ ดังนี้
1. พิจารณาพิพากษาอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว
2. ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอื่นด้วยความเป็นธรรมและรวดเร็ว
3. คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
การนำพาองค์กรศาลยุติธรรมไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้มีการปฏิบัติราชการ
และการบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพสูงสุด อำนวยผลประโยชน์แก่ประเทศชาติ สมควรที่ทุกท่านน้อมรับและยึดถือเป็นตัวอย่างตามเบื้องพระยุคบาทในการปฏิบัติภารกิจของพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งพระองค์ท่านเป็นพระประมุขและมิ่งขวัญของประเทศ ได้ทรงมุ่งมั่นทุ่มเทบำเพ็ญพระราชกรณีกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่งยวด ทรงเอาพระทัยใส่ใจทุกข์สุขของประชาชน ทรงพยายามที่จะแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ทรงมีพระราชวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้าในการช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการพัฒนางานศาลยุติธรรม

ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องช่วยในการพัฒนาองค์กร ระบบบริหารจัดการวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาของศาลยุติธรรมแต่ละแห่งในการให้บริการและแก้ไขปัญหาตรงตามความต้องการของประชาชน หากวันใดที่ต้องการทราบว่าศาลจังหวัดเบตง มีสภาพปัญหาและข้อขัดข้องในการบริการและจัดการองค์การอย่างไร เพียงแต่กดปุ่มข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ของศาลเบตง ก็จะปรากฏขึ้นให้เห็นที่ห้องทำงานของเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม โดยสามารถพูดคุยกับท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษา ผู้อำนวยการและข้าราชการเพื่อรับฟัง รับทราบปัญหาอันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานอย่างยิ่ง ระบบข้อมูลต่าง ๆ ของศาลจะต้องมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานในศาลยุติธรรมและพร้อมที่จะเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นเท่าที่จำเป็นและภายใต้กรอบกฎหมาย
โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนชาวชนบท จะได้รับการอำนวยความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า เมื่อท่านเหล่านี้มาถึงศาลยุติธรรมไม่ว่าจะในฐานะโจทก์ จำเลย นายประกัน จะได้รับการให้บริการที่ สะดวก รวดเร็ว ประหยัด เป็นธรรม โดยเสมอภาค เช่น การขอคัดคำพิพากษาอาจสามารถดำเนินการได้ภายใน 15 นาที เพราะคำพิพากษาจะถูกสะแกนจัดเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งสะดวกต่อการค้นหา เป็นต้น ในอนาคต คู่ความที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ อาจขอคัดคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในกรุงเทพฯ โดยไปยื่นขอถ่ายที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
ในส่วนของการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษา เช่น การยื่นคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนอาจไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหามายังศาล เมื่อศาลอนุญาตให้ฝากขังก็ให้ตำรวจนำตัวผู้ต้องขังส่งเรือนจำ โดยศาลออกหมายขังแล้วให้เจ้าหน้าที่เรือนจำรับไป ซึ่งจะมีความสะดวก รวดเร็ว ลดการเสี่ยงในการชิงตัวผู้ต้องขังหรือการก่อเหตุร้ายในบริเวณศาลดังที่เคยประสบมาในอดีต การยื่นฟ้องอาจยื่นฟ้องโดยผ่านอินเตอร์เน็ท คู่ความไม่ต้องเดินทางมาศาล แม้แต่การส่งประเด็นไปสืบ คู่ความก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังศาลยุติธรรมที่ส่งประเด็นไปสืบ การอ่านคำสั่งของศาลสูงก็เช่นเดียวกัน โดยศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ อาจอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาที่กรุงเทพฯ เพื่อให้คู่ความฟังที่ศาลยุติธรรมต่างจังหวัดนั้นๆ
การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการพัฒนางานศาลยุติธรรมแต่จะมีอุปสรรคในด้านการงบประมาณ บุคลากร และกฎหมายก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินการและแก้ไขระบบกฎหมายควบคู่กันไปได้
ในที่สุดนี้ ผมต้องการให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศคิดที่ปรับปรุงระบบ ระเบียบ ที่มีความยุ่งยาก เสียเวลา ล่าช้า น่าเบื่อหน่าย ให้เป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และให้ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งคิดหาวิธีการภายใต้กรอบกฎหมายเพื่อให้คดีลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลด้วย เช่น การนำวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญามาบังคับใช้ เป็นต้น และขอให้ทุกท่านได้ตระหนักเสมอว่า ท่านทั้งหลาย “เป็นผู้ให้” ส่วนประชาชนนั้นเป็น “ผู้รับ” เพราะการให้ เป็นมงคลของชีวิต

0 Comments:

Post a Comment

<< Home